เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 3.เภสัชชสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[622] ก็ เภสัชใดควรลิ้มสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน
น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนเภสัชนั้นแล้วเก็บไว้ฉันได้ 7 วันเป็นอย่างมาก
ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระปิลินทวัจฉะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[623] คำว่า เภสัชใดควรลิ้มสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้ มีอธิบายดังนี้
ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสทำจากน้ำนมโคบ้าง เนยใสทำจากน้ำนมแพะบ้าง
เนยใสทำจากน้ำนมกระบือบ้าง หรือเนยใสทำจากน้ำนมสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้นแหละ
ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดผักกาด
น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดมะซาง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง หรือน้ำมันไขสัตว์
ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำรสหวานที่แมลงผึ้งทำ
ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำรสหวานที่เกิดจากอ้อย
คำว่า ภิกษุรับประเคนเภสัชนั้นแล้วเก็บไว้ฉันได้ 7 วันเป็นอย่างมาก คือ
ภิกษุพึงฉันได้ 7 วันเป็นอย่างมาก
คำว่า ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ความว่า เมื่อรุ่ง
อรุณวันที่ 8 เภสัชนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่
บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละเภสัชที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :143 }