เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 2.อูนปัญจพันธนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บาตรที่มีที่ซ่อม 3 แห่ง
ภิกษุมีบาตรที่มีที่ซ่อม 3 แห่ง ขอบาตรที่ไม่มีที่ซ่อม ...บาตรที่มีที่ซ่อม 1 แห่ง
...บาตรที่มีที่ซ่อม 2 แห่ง ...บาตรที่มีที่ซ่อม 3 แห่ง ...ภิกษุมีบาตรที่มีที่ซ่อม 3
แห่ง ขอบาตรที่มีที่ซ่อม 4 แห่ง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

บาตรที่มีที่ซ่อม 4 แห่ง
ภิกษุมีบาตรที่มีที่ซ่อม 4 แห่ง ขอบาตรที่ไม่มีที่ซ่อม ...บาตรที่มีที่ซ่อม 1 แห่ง
...บาตรที่มีที่ซ่อม 2 แห่ง ...บาตรที่มีที่ซ่อม 3 แห่ง ...ภิกษุมีบาตรที่มีที่ซ่อม 4
แห่ง ขอบาตรที่มีที่ซ่อม 4 แห่ง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[617] 1. ภิกษุมีบาตรสูญหาย
2. ภิกษุมีบาตรแตก
3. ภิกษุขอจากญาติ
4. ภิกษุขอจากผู้ปวารณา
5. ภิกษุขอเพื่อภิกษุอื่น
6. ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน
7. ภิกษุวิกลจริต
8. ภิกษุต้นบัญญัติ

อูนปัญจพันธนสิกขาบทที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :138 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 3.เภสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ
3. ปัตตวรรค

3. เภสัชชสิกขาบท
ว่าด้วยเภสัช

เรื่องพระปิลินทวัจฉะ
[618] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะประสงค์จะทำ
ที่เร้นจึงให้ภิกษุทั้งหลายทำความสะอาดเงื้อมเขาในกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว
ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับ
นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “พระคุณเจ้าให้ภิกษุ
ทั้งหลายทำอะไร”
“ขอถวายพระพร อาตมภาพประสงค์จะทำที่เร้นจึงให้ภิกษุทั้งหลายทำความ
สะอาดเงื้อมเขา”
“พระคุณเจ้าต้องการคนวัดบ้างไหม”
“ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มีคนวัด”
“ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าพึงทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วบอกโยมด้วย”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลสนองพระดำรัสว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพจะทำ
อย่างนั้น” สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะได้ชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา จากนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐซึ่งท่าน
พระปิลินทวัจฉะได้ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้เสด็จลุกจากราชอาสน์
ทรงอภิวาทพระเถระ ทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :139 }