เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 2.อูนปัญจพันธนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คุณสมบัติของภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร 5 อย่าง
1. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
2. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
3. ไม่ลำเอียงเพราะหลง
4. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
5. รู้จักวิธีว่าเป็นอันเปลี่ยนหรือไม่เป็นอันเปลี่ยน

วิธีแต่งตั้งภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร และกรรมวาจาแต่งตั้ง
สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือเบื้องต้น พึงขอให้ภิกษุรับ ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[614] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วพึงสมมติภิกษุนี้
ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชื่อนี้สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[615] ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งพึงให้เปลี่ยนบาตร พึงเรียนพระเถระว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ท่านจงเปลี่ยนบาตร” ถ้าพระเถระเปลี่ยน ก็พึงถวายบาตรของพระเถระให้
พระเถระรูปที่ 2 เปลี่ยน ภิกษุจะไม่เปลี่ยนเพราะความสงสารเธอไม่ได้ ภิกษุใดไม่
ยอมเปลี่ยน ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ควรให้ภิกษุผู้ไม่มีบาตรเปลี่ยน ควรให้เปลี่ยนเลื่อน
ลงมาโดยวิธีนี้จนถึงภิกษุใหม่ในสงฆ์ บาตรใบสุดท้ายท่ามกลางสงฆ์ควรมอบแก่ภิกษุ
นั้นด้วยสั่งว่า “บาตรนี้เป็นของเธอ พึงใช้จนกว่าจะแตก”
ภิกษุนั้นไม่ควรเก็บบาตรไว้ในที่ไม่ควร ไม่ควรใช้สอยโดยวิธีไม่เหมาะ และไม่
ควรทอดทิ้งโดยคิดว่า ‘ทำอย่างไรบาตรใบนี้จะหาย ฉิบหายหรือแตก’ ถ้าเธอเก็บไว้
ในที่ที่ไม่เหมาะ ใช้สอยไม่ถูกวิธีหรือปล่อยทิ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :132 }