เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 2.อูนปัญจพันธนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[613] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
บาตรที่ชื่อว่า มีรอยซ่อมหย่อนกว่า 5 แห่ง คือ บาตรไม่มีรอยซ่อม หรือ
มีรอยซ่อมเพียง 1 แห่ง มีรอยซ่อมเพียง 2 แห่ง มีรอยซ่อมเพียง 3 แห่ง มีรอย
ซ่อมเพียง 4 แห่ง
บาตรที่ชื่อว่า ไม่มีรอยซ่อม ได้แก่ บาตรไม่มีรอยร้าวถึง 2 นิ้ว
บาตรที่ชื่อว่า มีรอยซ่อม ได้แก่ บาตรมีรอยร้าวยาว 2 นิ้ว
บาตรที่ชื่อว่า ใหม่ พระผู้มีพระภาคตรัสมุ่งเอาการออกปากขอมา
คำว่า ขอ คือ ออกปากขอ ต้องอาบัติทุกกฏเพราะพยายาม บาตรเป็น
นิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทุกรูปพึงถือบาตรที่อธิษฐานไปประชุม ไม่ควรอธิษฐานบาตรคุณภาพไม่ดี
ด้วยคิดว่า “เราจะเอาบาตรมีค่ามาก” ถ้าอธิษฐานบาตรคุณภาพไม่ดีด้วยคิดว่า “เรา
จะเอาบาตรมีค่ามาก” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละบาตรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละบาตรที่เป็นนิสสัคคีย์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมมีบาตรมี
รอยซ่อมหย่อนกว่า 5 แห่ง ขอบาตรใบนี้มา เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละบาตรใบนี้
แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ
5 อย่างให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :131 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 2.อูนปัญจพันธนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คุณสมบัติของภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร 5 อย่าง
1. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
2. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
3. ไม่ลำเอียงเพราะหลง
4. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
5. รู้จักวิธีว่าเป็นอันเปลี่ยนหรือไม่เป็นอันเปลี่ยน

วิธีแต่งตั้งภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร และกรรมวาจาแต่งตั้ง
สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือเบื้องต้น พึงขอให้ภิกษุรับ ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[614] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วพึงสมมติภิกษุนี้
ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชื่อนี้สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[615] ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งพึงให้เปลี่ยนบาตร พึงเรียนพระเถระว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ท่านจงเปลี่ยนบาตร” ถ้าพระเถระเปลี่ยน ก็พึงถวายบาตรของพระเถระให้
พระเถระรูปที่ 2 เปลี่ยน ภิกษุจะไม่เปลี่ยนเพราะความสงสารเธอไม่ได้ ภิกษุใดไม่
ยอมเปลี่ยน ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ควรให้ภิกษุผู้ไม่มีบาตรเปลี่ยน ควรให้เปลี่ยนเลื่อน
ลงมาโดยวิธีนี้จนถึงภิกษุใหม่ในสงฆ์ บาตรใบสุดท้ายท่ามกลางสงฆ์ควรมอบแก่ภิกษุ
นั้นด้วยสั่งว่า “บาตรนี้เป็นของเธอ พึงใช้จนกว่าจะแตก”
ภิกษุนั้นไม่ควรเก็บบาตรไว้ในที่ไม่ควร ไม่ควรใช้สอยโดยวิธีไม่เหมาะ และไม่
ควรทอดทิ้งโดยคิดว่า ‘ทำอย่างไรบาตรใบนี้จะหาย ฉิบหายหรือแตก’ ถ้าเธอเก็บไว้
ในที่ที่ไม่เหมาะ ใช้สอยไม่ถูกวิธีหรือปล่อยทิ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :132 }