เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 2.อูนปัญจพันธนสิกขาบท พระบัญญัติ
บาตรเป็นอันมากให้ภิกษุทั้งหลาย จนไม่สามารถทำการค้าขายอย่างอื่น ตนเองก็หา
เลี้ยงชีพไม่พอ ทั้งบุตรภรรยาก็พลอยลำบากไปด้วย”
พวกภิกษุได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์มีบาตรแตกเพียง
เล็กน้อยบ้าง บาตรกะเทาะเพียงเล็กน้อยบ้าง บาตรมีรอยขูดขีดเพียงเล็กน้อยบ้าง
ออกปากขอบาตรมาเป็นอันมากเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอมีบาตรแตกเพียง
เล็กน้อยบ้าง บาตรกะเทาะเพียงเล็กน้อยบ้าง บาตรมีรอยขูดขีดเพียงเล็กน้อยบ้าง ก็
ออกปากขอบาตรมาเป็นอันมาก จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย
ไฉนพวกเธอทั้งที่มีบาตรแตกเพียงเล็กน้อยบ้าง บาตรกะเทาะเพียงเล็กน้อยบ้าง
บาตรมีรอยขูดขีดเพียงเล็กน้อยบ้าง ออกปากขอบาตรมาเป็นอันมากเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อม
ใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[612] ก็ ภิกษุใดมีบาตรที่มีรอยซ่อมหย่อนกว่า 5 แห่ง1 ขอบาตรใหม่
ใบอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภิกษุนั้นพึงสละบาตรใบนั้นในภิกษุบริษัท
บาตรใบสุดท้ายอันภิกษุบริษัทนั้นพึงมอบให้ภิกษุนั้นด้วยสั่งว่า “ภิกษุ บาตรนี้
เป็นของเธอ พึงใช้จนกว่าจะแตก” นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
1 อูนปญฺจพนฺธเนน มีรอยซ่อมหย่อนกว่า 5 แห่ง คือบาตรร้าวแล้วใช้เหล็กเจาะบาตรแล้วเอาเชือกด้าย
หรือลวดเย็บผูกแล้วอุดด้วยดีบุกหรือยาง (วิ.อ. 2/612-3/221)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :130 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 2.อูนปัญจพันธนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[613] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
บาตรที่ชื่อว่า มีรอยซ่อมหย่อนกว่า 5 แห่ง คือ บาตรไม่มีรอยซ่อม หรือ
มีรอยซ่อมเพียง 1 แห่ง มีรอยซ่อมเพียง 2 แห่ง มีรอยซ่อมเพียง 3 แห่ง มีรอย
ซ่อมเพียง 4 แห่ง
บาตรที่ชื่อว่า ไม่มีรอยซ่อม ได้แก่ บาตรไม่มีรอยร้าวถึง 2 นิ้ว
บาตรที่ชื่อว่า มีรอยซ่อม ได้แก่ บาตรมีรอยร้าวยาว 2 นิ้ว
บาตรที่ชื่อว่า ใหม่ พระผู้มีพระภาคตรัสมุ่งเอาการออกปากขอมา
คำว่า ขอ คือ ออกปากขอ ต้องอาบัติทุกกฏเพราะพยายาม บาตรเป็น
นิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทุกรูปพึงถือบาตรที่อธิษฐานไปประชุม ไม่ควรอธิษฐานบาตรคุณภาพไม่ดี
ด้วยคิดว่า “เราจะเอาบาตรมีค่ามาก” ถ้าอธิษฐานบาตรคุณภาพไม่ดีด้วยคิดว่า “เรา
จะเอาบาตรมีค่ามาก” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละบาตรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละบาตรที่เป็นนิสสัคคีย์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมมีบาตรมี
รอยซ่อมหย่อนกว่า 5 แห่ง ขอบาตรใบนี้มา เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละบาตรใบนี้
แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ
5 อย่างให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :131 }