เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 2.อุทโทสิตสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้ของกระผมอยู่ปราศแล้ว
ล่วงราตรี เว้นจากได้รับการสมมติ เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วพึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผม
คืนจีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”

บทภาชนีย์
มาติกา
[477] หมู่บ้าน มีอุปจารเดียวกัน1 หมู่บ้าน มีอุปจารแยกกัน
เรือน มีอุปจารเดียวกัน เรือน มีอุปจารแยกกัน
โรงเก็บของ มีอุปจารเดียวกัน โรงเก็บของ มีอุปจารแยกกัน
ป้อม มีอุปจารเดียวกัน ป้อม มีอุปจารแยกกัน
เรือนยอดเดียว มีอุปจารเดียวกัน เรือนยอดเดียว มีอุปจารแยกกัน
ปราสาท มีอุปจารเดียวกัน ปราสาท มีอุปจารแยกกัน
เรือนโล้น2 มีอุปจารเดียวกัน เรือนโล้น มีอุปจารแยกกัน
เรือ มีอุปจารเดียวกัน เรือ มีอุปจารแยกกัน
หมู่เกวียน มีอุปจารเดียวกัน หมู่เกวียน มีอุปจารแยกกัน

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “อุปจาร” คือที่ใกล้เคียงกันบริเวณรอบ ๆ ชานเช่นอุปจารเรือนคือบริเวณรอบ ๆ เรือนซึ่ง
กำหนดจุดที่อยู่นอกบริเวณชายคาของตัวเรือนออกไปถึงจุดที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะ
ออกไปตก (วิ.อ. 1/92/322)
2 หัมมิยะ เรือนโล้น ได้แก่ ปราสาทหลังคาโล้น มีเรือนยอดตั้งอยู่ที่ดาดฟ้า มีชานชมแสงจันทร์ (วิ.อ.
2/482-7/159, วิ.อ. 3/294/319, สารตฺถ.ฏีกา 3/71-73/285, วิมติ.ฏีกา 2/71-73/135)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :13 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 2.อุทโทสิตสิกขาบท บทภาชนีย์
นา มีอุปจารเดียวกัน นา มีอุปจารแยกกัน
ลานนวดข้าว มีอุปจารเดียวกัน ลานนวดข้าว มีอุปจารแยกกัน
สวน มีอุปจารเดียวกัน สวน มีอุปจารแยกกัน
วิหาร มีอุปจารเดียวกัน วิหาร มีอุปจารแยกกัน
โคนไม้ มีอุปจารเดียวกัน โคนไม้ มีอุปจารแยกกัน
ที่กลางแจ้ง มีอุปจารเดียวกัน ที่กลางแจ้ง มีอุปจารแยกกัน
[478] ที่ชื่อว่า หมู่บ้านมีอุปจารเดียวกัน คือ หมู่บ้านของตระกูลหนึ่งล้อม
รั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในหมู่บ้าน แล้วพึงอยู่ภายในหมู่บ้าน ที่ชื่อว่า หมู่
บ้านมีอุปจารแยกกัน1 คือ หมู่บ้านของตระกูลหนึ่งไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ใน
เรือนที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส
[479] หมู่บ้านของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุต้องอยู่ในเรือนที่
ตนเก็บจีวรไว้ ในหอประชุมหรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส เมื่อไปหอประชุม
ต้องเก็บจีวรไว้ในหัตถบาสแล้วอยู่ในหอประชุมหรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
ภิกษุเก็บจีวรในหอประชุมต้องอยู่ในหอประชุมหรือที่ริมประตูหรือไม่ละหัตถบาส
หมู่บ้านไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในเรือนที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส
[480] เรือน ของตระกูลหนึ่งล้อมรั้วไว้ด้วยกัน มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลายห้อง
ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในเรือน ต้องอยู่ภายในเรือน
เรือนไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส
[481] เรือน ของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลาย
ห้อง ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
เรือนไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส

เชิงอรรถ :
1 หมู่บ้านที่จัดว่ามีอุปจารเดียวกัน ท่านกำหนดด้วยล้อมรั้วไว้ด้วยกัน, ที่จัดว่า มีอุปจารแยกกัน ท่าน
กำหนดด้วยไม่มีรั้วล้อม (ปริกฺขิตฺโตติ... เอตฺตาวตา เอกกุลคามสฺส เอกูปจารตา ทสฺสิตา. ฯเปฯ
อปริกฺขิตฺโตติ อิมินา ตสฺเสว คามสฺส นานูปจารตา ทสฺสิตา - วิ.อ. 2/478/157)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :14 }