เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 1.ปัตติสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
[599] ก็ ภิกษุใดทรงอติเรกบาตร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องพระอานนท์
[600] สมัยนั้น อติเรกบาตรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์
ต้องการจะถวายอติเรกบาตรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่เมือง
สาเกต ทีนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
สิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกบาตร’ ก็อติเรกบาตรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เรา
ต้องการจะถวายท่านพระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติอย่างไร
หนอ” จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา”
พระอานนท์กราบทูลว่า “อีก 9 หรือ 10 วันจึงจะกลับมา พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตอติเรกบาตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอติเรกบาตรไว้ได้ 10 วันเป็น
อย่างมาก” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[601] ภิกษุพึงทรงอติเรกบาตรไว้ได้ 10 วันเป็นอย่างมาก ให้เกิน
กำหนดนั้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอานนท์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :123 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 1.ปัตติสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[602] คำว่า 10 วันเป็นอย่างมาก คือ ครอบครองไว้ได้ 10 วันเป็นอย่าง
มาก
ที่ชื่อว่า อติเรกบาตร ได้แก่ บาตรที่ไม่ได้อธิษฐาน ไม่ได้วิกัป
ที่ชื่อว่า บาตร ได้แก่บาตร 2 ชนิด คือ บาตรเหล็ก และบาตรดินเผา

ขนาดบาตร
บาตรมี 3 ขนาด คือ (1) บาตรขนาดใหญ่ (2) บาตรขนาดกลาง (3) บาตร
ขนาดเล็ก
ที่ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกจากข้าวสาร 2 ทะนาน จุของเคี้ยวเศษ
หนึ่งส่วนสี่1 จุกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
ที่ชื่อว่า บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกจากข้าวสาร 1 ทะนาน จุของเคี้ยวเศษ
หนึ่งส่วนสี่ จุกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
ที่ชื่อว่า บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุกจากข้าวสารครึ่งทะนาน จุของเคี้ยวเศษหนึ่ง
ส่วนสี่ จุกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
บาตรมีขนาดใหญ่กว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้ บาตรมีขนาดเล็กกว่านั้นก็เป็น
บาตรที่ใช้ไม่ได้
คำว่า ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ความว่า เมื่อรุ่ง
อรุณวันที่ 11 บาตรใบนั้น เป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ
หรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละบาตรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 คือเศษหนึ่งส่วนสี่ของข้าวสุก (วิ.อ. 2/602/215)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :124 }