เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 10.กยวิกกยสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พวกภิกษุได้ยินปริพาชกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงทำ
การซื้อขายกับปริพาชกเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตร
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่าเธอทำการซื้อขายกับ
ปริพาชก จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงทำการซื้อขายกับ
ปริพาชกเล่า การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[594] ก็ ภิกษุใดทำการซื้อขายมีประการต่าง ๆ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[595] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีประการต่าง ๆ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร โดยที่สุดกระทั่งก้อนจุรณ ไม้ชำระฟันหรือด้ายชายผ้า
คำว่า ทำการซื้อขาย คือ ภิกษุพูดเป็นเชิงบังคับว่า “ท่านจงให้ของสิ่งนี้
ด้วยของนี้ นำของสิ่งนี้มาด้วยของนี้ แลกเปลี่ยนของสิ่งนี้ด้วยของนี้ จ่ายของสิ่งนี้ด้วย
ของนี้” ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :118 }