เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 9.รูปิยสังโวหารสิกขาบท นิทานวัตถุ
2. โกสิยวรรค

9. รูปิยสังโวหารสิกขาบท
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนรูปิยะ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[587] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำการแลก
เปลี่ยนกันด้วยรูปิยะชนิดต่าง ๆ พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงทำการแลกเปลี่ยนกันด้วยรูปิยะชนิดต่าง ๆ เหมือน
พวกคฤหัสถ์ที่ยังบริโภคกามเล่า”
พวกภิกษุได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทำการแลกเปลี่ยน
กันด้วยรูปิยะชนิดต่าง ๆ เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดย
ประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอทำการแลก
เปลี่ยนกันด้วยรูปิยะชนิดต่าง ๆ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน
พวกเธอจึงทำการแลกเปลี่ยนรูปิยะชนิดต่าง ๆ เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :112 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 9.รูปิยสังโวหารสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[588] ก็ ภิกษุใดทำการแลกเปลี่ยนกันด้วยรูปิยะชนิดต่าง ๆ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[589] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชนิดต่าง ๆ คือ เป็นรูปพรรณบ้าง ไม่เป็นรูปพรรณบ้าง เป็นทั้ง
รูปพรรณและไม่เป็นรูปพรรณบ้าง
ที่ชื่อว่า เป็นรูปพรรณ ได้แก่ เครื่องประดับศีรษะ เครื่องประดับคอ เครื่อง
ประดับมือ เครื่องประดับเท้า เครื่องประดับสะเอว
ที่ชื่อว่า ไม่เป็นรูปพรรณ พระองค์ตรัสถึงรูปิยะที่ทำเป็นแท่ง
ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณและไม่เป็นรูปพรรณ ได้แก่ เครื่องประดับทั้ง 2
ประเภทนั้น
ที่ชื่อว่า รูปิยะ ได้แก่ วัตถุที่มีสีดุจพระฉวีของพระศาสดา กหาปณะ มาสก
ที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ที่ใช้เป็นอัตราสำหรับ
แลกเปลี่ยนซื้อขายกัน
คำว่า ทำการ คือ เอารูปิยะที่เป็นรูปพรรณแลกเปลี่ยนกับรูปิยะที่เป็นรูปพรรณ
เป็นนิสสัคคีย์
เอารูปิยะที่เป็นรูปพรรณแลกเปลี่ยนกับรูปิยะที่ไม่เป็นรูปพรรณ เป็นนิสสัคคีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :113 }