เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 8.รูปิยสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า ทอง พระองค์ตรัสหมายถึงวัตถุที่มีสีดุจพระฉวีของพระศาสดา
ที่ชื่อว่า เงิน ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้
มาสกที่ทำด้วยครั่ง ที่ใช้เป็นอัตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน
คำว่า รับ คือ ภิกษุรับเอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ผู้อื่นรับ คือ ภิกษุให้คนอื่นรับแทน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คำว่า หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ความว่า ภิกษุยินดีรูปิยะที่เขา
เก็บไว้ให้โดยบอกว่า “สิ่งนี้เป็นของท่าน” ดังนี้ รูปิยะนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของ
จำต้องสละในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละรูปิยะที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละรูปิยะที่เป็นนิสสัคคีย์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมรับรูปิยะไว้
รูปิยะนี้ของกระผมเป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดง
อาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ
ถ้าคนงานวัดหรืออุบาสกผ่านมา พึงบอกเขาว่า “ท่านจงรู้สิ่งนี้” ถ้าเขากล่าวว่า
“จะให้กระผมนำสิ่งนี้ไปแลกอะไรมา” ไม่ควรบอกเขาว่า “จงนำของนี้ ๆ มา” ควร
บอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย
ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย ยกเว้นภิกษุผู้รับรูปิยะ
นอกนั้นทุกรูปฉันได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าทำไม่ได้ พึงบอกเขาว่า “ท่าน
โปรดทิ้งของนี้” ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทิ้งให้ พึงแต่งตั้งภิกษุผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ 5 อย่างให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :109 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 8.รูปิยสิกขาบท บทภาชนีย์
คุณสมบัติของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ 5 อย่าง
1. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
2. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
3. ไม่ลำเอียงเพราะหลง
4. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
5. รู้วิธีว่าเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้งรูปิยะ

วิธีแต่งตั้งภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ และคำแต่งตั้ง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ เบื้องต้นพึงขอให้ภิกษุรับ ครั้นแล้ว
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[585] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงแต่งตั้ง
ภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ท่าน
รูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชื่อนี้สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นพึงทิ้งรูปิยะไป อย่ากำหนดที่ตก ถ้าทิ้งโดยกำหนดที่ตก
ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[586] รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ รับรูปิยะ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
รูปิยะ ภิกษุไม่แน่ใจ รับรูปิยะ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่รูปิยะ รับรูปิยะ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :110 }