เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 8.รูปิยสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทีนั้น เขาถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรแล้วตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้รับรูปิยะ1 เหมือนพวกเรา”
พวกภิกษุได้ยินบุรุษนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร จึงรับรูปิยะ
เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอรับรูปิยะจริงหรือ”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงรับรูปิยะเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น
ได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[583] ก็ ภิกษุใดรับหรือใช้ให้ผู้อื่นรับทองและเงิน หรือยินดีทองและ
เงินที่เขาเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[584] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “รูปิยะ” หมายถึงทองและเงิน (วิ.อ. 2/586/207)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :108 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 8.รูปิยสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า ทอง พระองค์ตรัสหมายถึงวัตถุที่มีสีดุจพระฉวีของพระศาสดา
ที่ชื่อว่า เงิน ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้
มาสกที่ทำด้วยครั่ง ที่ใช้เป็นอัตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน
คำว่า รับ คือ ภิกษุรับเอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ผู้อื่นรับ คือ ภิกษุให้คนอื่นรับแทน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คำว่า หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ความว่า ภิกษุยินดีรูปิยะที่เขา
เก็บไว้ให้โดยบอกว่า “สิ่งนี้เป็นของท่าน” ดังนี้ รูปิยะนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของ
จำต้องสละในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละรูปิยะที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละรูปิยะที่เป็นนิสสัคคีย์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมรับรูปิยะไว้
รูปิยะนี้ของกระผมเป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดง
อาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ
ถ้าคนงานวัดหรืออุบาสกผ่านมา พึงบอกเขาว่า “ท่านจงรู้สิ่งนี้” ถ้าเขากล่าวว่า
“จะให้กระผมนำสิ่งนี้ไปแลกอะไรมา” ไม่ควรบอกเขาว่า “จงนำของนี้ ๆ มา” ควร
บอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย
ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย ยกเว้นภิกษุผู้รับรูปิยะ
นอกนั้นทุกรูปฉันได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าทำไม่ได้ พึงบอกเขาว่า “ท่าน
โปรดทิ้งของนี้” ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทิ้งให้ พึงแต่งตั้งภิกษุผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ 5 อย่างให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :109 }