เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 พระบัญญัติ

โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระธนิยกุมภการบุตรจึงขโมยไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระธนิยกุมภการบุตรว่า “ธนิยะ ทราบว่าเธอขโมยไม้หลวงจริงหรือ”
ท่านทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ
การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสหรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็
ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสแล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
สมัยนั้น มีมหาอมาตย์เคยเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งบวชอยู่ในหมู่ภิกษุ นั่งอยู่
ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงรับสั่งถามภิกษุรูปนั้นว่า “พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธ จับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศบ้าง ด้วยอัตราโทษตาม
มูลค่าทรัพย์ที่โจรกรรมมาเท่าไร”
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า “ด้วยมูลค่า 1 บาทบ้าง ควรแก่ 1 บาทบ้าง เกินกว่า
1 บาทบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ ทรัพย์ 1 บาท เท่ากับ 5 มาสก
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตร โดยประการต่าง ๆ
แล้วได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ คุณแห่งการปรารภความเพียร
แล้วทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมกับเรื่องนั้นแล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ

[89] ก็ ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก
มีมูลค่าเท่ากับอัตราโทษที่พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 พระบัญญัติ

บ้าง เนรเทศบ้าง บริภาษว่า “เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้า
เป็นขโมย” ดังนี้ เพราะถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นใด ภิกษุผู้ถือเอา
ทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นนั้น แม้ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร จบ

เรื่องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์

[90] ครั้นต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไปลานตากผ้าของช่างย้อมผ้า แล้วพา
กันลักห่อผ้ากลับมาวัด แบ่งกัน
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “พวกท่านมีบุญมาก จีวรจึงเกิดขึ้นแก่พวก
ท่านมาก”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ตอบว่า “พวกผมจะมีบุญมาจากไหนกัน พวกผมไปลาน
ตากผ้าของช่างย้อมแล้ว ได้ลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเดี๋ยวนี้เอง”
ภิกษุทั้งหลายจึงท้วงติงว่า “ท่าน พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไร พวกท่านจึงลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเล่า”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวแย้งว่า “จริง ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้นใช้เฉพาะในบ้าน ไม่ใช่ในป่า”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “พระบัญญัตินั้นใช้ได้เหมือนกันทั้งในบ้านและในป่ามิ
ใช่หรือ การกระทำของท่านไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ
ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉน พวกท่านจึงลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเล่า การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่
แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :79 }