เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

“จริง มหาบพิตร”
“พระคุณเจ้า โยมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีกรณียกิจมากมาย ถึงจะถวายไป
แล้วก็จำไม่ได้ พระคุณเจ้าโปรดเตือนความจำให้โยมด้วย”
พระธนิยกุมภการบุตร ทูลว่า “ขอถวายพระพร พระองค์จำได้ไหม ครั้งที่
พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ใหม่ๆ ทรงเปล่งพระวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายหญ้า ไม้
และน้ำแก่สมณพราหมณ์ ขอสมณพราหมณ์โปรดใช้สอยเถิด”
“พระคุณเจ้า โยมจำได้ ที่โยมพูดนั้นหมายถึงสมณพราหมณ์ผู้มีความละอาย
มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา มีความรังเกียจแม้ในโทษเล็กน้อย หญ้า ไม้และน้ำ
นั้นยังมิได้มีใครจับจอง อยู่ในป่า ท่านจงใจอ้างจะขนไม้ที่ไม่ให้ไป พระเจ้าแผ่นดิน
เช่นโยมจะฆ่า จองจำหรือเนรเทศสมณพราหมณ์อย่างไรได้ นิมนต์กลับไปเถิด ท่าน
รอดตัวเพราะขน1 แต่อย่าได้ทำอย่างนี้อีก”

ประชาชนตำหนิ

ประชาชนพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เหล่านี้ไม่มีความละอาย ทุศีล ชอบพูดเท็จ แต่ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติธรรม ประพฤติ
สงบ ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกท่านไม่มีความเป็น
สมณะ ไม่มีความเป็นพราหมณ์ ความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ของพวกท่าน
เสื่อมสิ้นไปแล้ว พวกท่านจะเป็นสมณะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร พวกท่านปราศจาก
ความเป็นสมณะ ปราศจากความเป็นพราหมณ์ แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ยังถูกสมณะ
เหล่านั้นหลอกลวงได้ ไฉนคนอื่นจักไม่ถูกหลอกลวงเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มัก
น้อยสันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึงตำหนิ ประณาม

เชิงอรรถ :
1 โลเมน ตฺวํ มุตฺโตสีติ เอตฺถ โลมมิว โลมํ, กึ ปน ตํ ปพฺพชฺชาลิงฺคํ คำว่า “ขน” ในที่นี้ หมายถึงเพศบรรพชิต
คือผ้ากาสาวพัสตร์ที่ท่านพระธนิยะห่มอยู่ ท่านธนิยะทำความผิดลักไม้ของหลวง ควรถูกจับฆ่าหรือจองจำ
แต่ท่านนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ จึงรอดตัวจากการถูกฆ่าถูกจองจำ ท่านอุปมา
เหมือนแพะมีขนยาวที่จะถูกฆ่ากินเนื้อ พอดีมีบุรุษคนหนึ่งเห็นว่า แพะนี้ขนมีราคา จึงเอาแพะที่ขนสั้น 2 ตัว
มาแลกไป แพะขนยาวจึงรอดตัวเพราะขน (วิ.อ. 1/88/318)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :77 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 พระบัญญัติ

โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระธนิยกุมภการบุตรจึงขโมยไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระธนิยกุมภการบุตรว่า “ธนิยะ ทราบว่าเธอขโมยไม้หลวงจริงหรือ”
ท่านทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ
การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสหรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็
ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสแล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
สมัยนั้น มีมหาอมาตย์เคยเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งบวชอยู่ในหมู่ภิกษุ นั่งอยู่
ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงรับสั่งถามภิกษุรูปนั้นว่า “พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธ จับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศบ้าง ด้วยอัตราโทษตาม
มูลค่าทรัพย์ที่โจรกรรมมาเท่าไร”
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า “ด้วยมูลค่า 1 บาทบ้าง ควรแก่ 1 บาทบ้าง เกินกว่า
1 บาทบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ ทรัพย์ 1 บาท เท่ากับ 5 มาสก
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตร โดยประการต่าง ๆ
แล้วได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ คุณแห่งการปรารภความเพียร
แล้วทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมกับเรื่องนั้นแล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ

[89] ก็ ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก
มีมูลค่าเท่ากับอัตราโทษที่พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำ