เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 วินีตวัตถุ

เรื่องบัณเฑาะก์ 1 เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
บัณเฑาะก์ ภิกษุยินดี พึงให้สึกเสีย ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ 75)

เรื่องหญิงคฤหัสถ์ 1 เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
หญิงคฤหัสถ์ ภิกษุยินดี พึงให้สึกเสีย ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ 76)

เรื่องให้ภิกษุผลัดกัน 1 เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
กันและกัน เธอทั้งสองยินดี พึงให้สึกเสียทั้งคู่ ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ 77)

เรื่องพระขรัวตา 1 เรื่อง

[82] สมัยนั้น พระขรัวตารูปหนึ่งไปเยี่ยมอดีตภรรยา ถูกบังคับให้สึก ท่าน
ถอยหนีจนล้มหงาย นางขึ้นคร่อมองคชาต ท่านเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระ
ภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยินดีหรือ”
“ไม่ยินดี พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ 78)

เรื่องลูกเนื้อ 1 เรื่อง

[83] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า ลูกเนื้อมาที่ถ่ายปัสสาวะของท่านแล้ว
อมองคชาตพลางดื่มน้ำปัสสาวะ ท่านยินดี เกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก (เรื่อง
ที่ 79)

ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

ปาราชิกสิกขาบทที่ 2
ว่าด้วยการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

[84] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขต
กรุงราชคฤห์ ภิกษุหลายรูปเป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกัน ช่วยกันทำกุฎีมุงหญ้า อยู่จำ
พรรษา ที่เชิงภูเขาอิสิคิลิ ท่านพระธนิยกุมภการบุตรก็ทำกุฎีมุงหญ้าอยู่จำพรรษาใน
ที่นั้น ต่อเมื่อล่วงไตรมาสไปแล้ว ภิกษุเหล่านั้นรื้อกุฏีมุงหญ้า เก็บหญ้าและตัวไม้ไว้
แล้วพากันหลีกจาริกไปในชนบท ส่วนพระธนิยกุมภการบุตร ยังพักอยู่ที่นั้นตลอด
ฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน วันหนึ่งเมื่อท่านไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า
คนหาฟืน รื้อกุฎีหญ้าของท่าน แล้วขนเอาหญ้าและไม้ไป ท่านพระธนิยกุมภการบุตร
ได้หาหญ้าและไม้มาทำกุฎีหญ้าเป็นครั้งที่ 2 ฯลฯ แม้ครั้งที่ 3 เมื่อท่านไป
บิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีหญ้าของท่าน แล้วขนหญ้า
และไม้ไป เป็นครั้งที่ 3
ท่านคิดว่า เมื่อเราไปบิณฑบาตในบ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืน รื้อกุฎีหญ้า
แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง 3 ครั้ง เรามีการศึกษาดี ไม่บกพร่อง สำเร็จศิลปะช่าง
หม้อเทียบเท่าอาจารย์ อย่ากระนั้นเลย เราพึงขยำโคลนทำกุฎีดินล้วนด้วยตัวเอง
ดังนั้น ท่านจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วน และรวบรวมหญ้า ไม้และขี้วัวแห้งมา
สุมไฟเผากุฎีนั้นจนสุก กุฎีนั้นงดงามน่าดูน่าชม มีสีแดงเหมือนสีแมลงค่อมทอง
(เวลาลมพัด)ส่งเสียงเหมือนเสียงกระดึง
[85] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏพร้อมกับภิกษุ
จำนวนมาก ทอดพระเนตรเห็นกุฎีอันงดงามน่าดู น่าชม ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย
นั่นอะไรน่าดูน่าชม สีเหมือนแมลงค่อมทอง” ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น
ให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
ของโมฆบุรุษนั่นไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำเลย ไฉนโมฆบุรุษจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วนเล่า โมฆบุรุษนั้นชื่อว่ามิได้มี