เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [3. อนิยตกัณฑ์] 1. ปฐมอนิยตสิกขาบท นิทานวัตถุ

3. อนิยตกัณฑ์

ท่านทั้งหลาย ธรรมคืออนิยต 2 สิกขาบทเหล่านี้ มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดง
เป็นข้อ ๆ ตามลำดับ

1. ปฐมอนิยตสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง
เรื่องพระอุทายี

[443] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเป็นพระประจำ
ตระกูลในกรุงสาวัตถี ไปมาหาสู่ตระกูลทั้งหลาย สมัยนั้น หญิงสาวตระกูลอุปัฏฐาก
ของท่านพระอุทายีอันมารดาบิดาได้ยกให้ชายหนุ่มตระกูลหนึ่ง เวลาเช้าวันหนึ่ง
ท่านพระอุทายีครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรไปที่ตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้วถาม
ชาวบ้านว่า “หญิงสาวชื่อนี้ไปไหน”
ชาวบ้านตอบว่า “เขายกให้ชายหนุ่มตระกูลโน้นไปแล้ว เจ้าข้า”
ตระกูลนั้นก็เป็นอุปัฏฐากของท่านพระอุทายี ท่านจึงไปที่นั้นถามว่า “หญิง
สาวชื่อนี้อยู่ไหน”
ชาวบ้านตอบว่า “นางนั่งอยู่ในห้องเจ้าข้า”
ท่านพระอุทายีเข้าไปหาหญิงสาวนั้น นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับพอจะทำการได้
เจรจา กล่าวธรรมเหมาะแก่กาลกับหญิงสาวนั้นสองต่อสอง

นางวิสาขามิคารมารดาตำหนิพระอุทายี

สมัยนั้น นางวิสาขามิคารมารดา มีบุตรหลานมาก มีบุตรหลานล้วนไม่มีโรค
ได้รับยกย่องว่าเป็นมิ่งมงคล พวกชาวบ้านเชิญนางวิสาขาไปบริโภคเป็นคนแรกใน
งานบุญ งานมหรสพ งานฉลอง นางวิสาขามิคารมารดาได้รับเชิญไปสู่ตระกูลนั้น นาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :473 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [3. อนิยตกัณฑ์] 1. ปฐมอนิยตสิกขาบท พระบัญญัติ

ได้เห็นท่านพระอุทายีนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับพอจะทำการได้กับหญิงสาว ครั้น
เห็นแล้วจึงกล่าวกับท่านพระอุทายีว่า “พระคุณเจ้า การที่ท่านนั่งบนอาสนะที่กำบัง
ในที่ลับ พอจะทำการได้กับมาตุคามสองต่อสองเช่นนี้ ไม่เหมาะ ไม่สมควร ท่านไม่
ปรารถนาด้วยธรรมนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ชาวบ้านที่ยังไม่เลื่อมใสก็ทำให้ เชื่อยาก”
ท่านพระอุทายี แม้ถูกนางวิสาขาว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่เชื่อ
นางวิสาขาจึงออกไปบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนท่านพระอุทายีจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับพอจะทำการได้กับมาตุคามสอง
ต่อสองเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุทายีโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับพอจะ
ทำการได้กับมาตุคามสองต่อสอง จริงหรือ” ท่านทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่
คล้อยตาม ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับพอจะทำการได้กับ
มาตุคาม สองต่อสองเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้

พระบัญญัติ

[444] ก็ ภิกษุใดนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับพอจะทำการได้กับมาตุคาม
สองต่อสอง อุบาสิกามีวาจาเชื่อถือได้ ได้เห็นภิกษุนั่งกับมาตุคามนั้นแล้วกล่าว
โทษด้วยอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอาบัติ 3 อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส
หรือปาจิตตีย์ ภิกษุนั้นยอมรับการนั่ง พึงถูกปรับด้วยอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :474 }