เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 10. สังฆเภทสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

คำว่า ถือ คือ ยึดเอา
คำว่า ยกย่อง คือ แสดง
คำว่า ยืนยัน คือ ไม่กลับคำ
คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์
คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น
อธิบายว่า ภิกษุผู้ได้เห็น ผู้ได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุผู้เพียรพยายาม
เพื่อทำลายสงฆ์นั้นว่า “ท่านอย่าเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรือ
อย่าถือยกย่องยืนยันอธิกรณ์อันเป็นเหตุทำให้แตกแยกกัน ท่านจงพร้อมเพรียง
กับสงฆ์ เพราะสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ปรองดอง ไม่วิวาท มีอุทเทสเดียวกัน ย่อมอยู่
ผาสุก” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ 2 พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ 3 ถ้า
เธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วไม่
ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวมาสู่ท่ามกลาง
สงฆ์ ว่ากล่าวตักเตือนว่า “ท่านอย่าเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง
หรืออย่าถือยกย่องยืนยันอธิกรณ์อันเป็นเหตุทำให้แตกแยกกัน ท่านจงพร้อมเพรียง
กับสงฆ์ เพราะสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ปรองดอง ไม่วิวาท มีอุทเทสเดียวกัน ย่อมอยู่
ผาสุก” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ 2 พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ 3 ถ้า
เธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์เธอ

วิธีสวดสมนุภาสน์ และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์1

ภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึง
ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า
[413] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้เพียรพยายามเพื่อ
ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ภิกษุนั้นไม่ยอมสละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วก็พึงสวด
สมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
1 การสวดสมนุภาสน์ คือ สงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปสวดประกาศห้ามภิกษุไม่ให้ถือรั้นการอันมิชอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :446 }