เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 10. สังฆเภทสิกขาบท พระบัญญัติ

แต่พระสมณโคดมไม่ทรงอนุญาตวัตถุ 5 ประการเหล่านั้น พวกเราจง
สมาทานประพฤติตามวัตถุ 5 ประการเหล่านี้เถิด”
บรรดาประชาชนเหล่านั้น พวกที่ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส มีความรู้ไม่ดี กล่าวว่า
“พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ ประพฤติกำจัดกิเลส ประพฤติเคร่งครัด ส่วน
พระสมณโคดมมักมาก ดำริเพื่อความมักมาก”
ส่วนพวกมีศรัทธา เลื่อมใส เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีความรู้ดี ก็ตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัตจึงเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อ
ทำลายจักรของพระผู้มีพระภาคเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มัก
น้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัตจึงเพียร
พยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักรเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพระเทวทัต
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่าเธอเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อ
ทำลายจักร จริงหรือ” พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้นไม่สมควร ฯลฯ โมฆบุรุษ
ไฉนเธอจึงเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักรเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้

พระบัญญัติ

[411] ก็ ภิกษุใดเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรือถือ
ยกย่องยืนยันอธิกรณ์อันเป็นเหตุทำให้แตกแยกกัน ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย
พึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อม
เพรียง หรือถือยกย่องยืนยันอธิกรณ์อันเป็นเหตุทำให้แตกแยกกัน ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :444 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 10. สังฆเภทสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

จงพร้อมเพรียงกับสงฆ์ เพราะสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ปรองดอง ไม่วิวาท มีอุทเทส
เดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก” และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้
ยังยกย่องอยู่อย่างนั้น ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ 3
ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ 3 ครั้ง สละ
เรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ เป็นสังฆาทิเสส

เรื่องพระเทวทัต จบ

สิกขาบทวิภังค์

[412] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ชื่อว่า ผู้พร้อมเพรียง คือ สงฆ์ผู้มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสีมาเดียวกัน
คำว่า เพียรพยายามเพื่อทำลาย คือ แสวงหาพวก รวมกันเป็นหมู่ โดยมุ่ง
หมายว่า ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านี้จะแตกกันแยกกัน แบ่งเป็นพวก
คำว่า หรือ...อธิกรณ์อันเป็นเหตุทำให้แตกแยกกัน ได้แก่ เรื่องทำให้แตกกัน
18 อย่าง1

เชิงอรรถ :
1 เรื่องทำให้แตกกัน 18 อย่าง คือ (1) แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม (2) แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม
(3) แสดงอวินัยว่าเป็นวินัย (4) แสดงวินัยว่าเป็นอวินัย (5) แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ตรัสไว้
(6) แสดงสิ่งที่พระตถาคตได้ตรัสไว้ว่าไม่ได้ตรัสไว้ (7) แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ทรงประพฤติมา
(8) แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาว่าไม่ทรงประพฤติมา (9) แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ทรงบัญญัติไว้
ว่าทรงบัญญัติไว้ (10) แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ว่าไม่ทรงบัญญัติไว้ (11) แสดงอาบัติว่าไม่ใช่อาบัติ
(12) แสดงสิ่งที่ไม่ใช่อาบัติว่าเป็นอาบัติ (13) แสดงอาบัติเบาว่าเป็นอาบัติหนัก (14) แสดงอาบัติหนักว่า
เป็นอาบัติเบา (15) แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ (16) แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า
เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ (17) แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ (18) แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า
เป็นอาบัติชั่วหยาบ (วิ.ป. 8/314/248)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :445 }