เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 9. ทุติยทุฎฐโทสสิกขาบท อนาปัตติวาร

ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯลฯ ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุ
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ ฯลฯ ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ ฯลฯ ภิกษุผู้
โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติทุพภาสิต มีความเห็นอาบัติทุพภาสิตว่าเป็นอาบัติ ทุพภาสิต
ฯลฯ มีความเห็นอาบัติทุพภาสิตว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ฯลฯ มีความเห็นอาบัติ
ทุพภาสิตว่าเป็นอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ มีความเห็นอาบัติทุพภาสิตว่าเป็นอาบัติ
ปาจิตตีย์ ฯลฯ มีความเห็นอาบัติทุพภาสิตว่าเป็นอาบัติปาฏิเทสนียะ ฯลฯ มีความ
เห็นอาบัติทุพภาสิตว่าเป็นอาบัติทุกกฏ ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นด้วยอาบัติปาราชิกว่า
“ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร ท่านร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือ
สังฆกรรมไม่ได้” แม้อย่างนี้ อธิกรณ์นั้นย่อมเป็นอาบัติข้ออื่นและเธออ้างเอาเป็นเลศ
ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด

อนาปัตติวาร

ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[408] 1. ภิกษุผู้สำคัญว่าเป็นอย่างนั้น โจทเองหรือสั่งให้ผู้อื่นโจท
2. ภิกษุวิกลจริต
3. ภิกษุต้นบัญญัติ

ทุติยทุฏฐโทสสิกขาบทที่ 9 จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 10. สังฆเภทสิกขาบท นิทานวัตถุ

10. สังฆเภทสิกขาบท
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
เรื่องพระเทวทัต

[409] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ
พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตร และพระสมุทททัตถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว
ได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นดังนี้ว่า “มาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจะทำลายสงฆ์
ทำลายจักร1 ของพระสมณโคดม”
เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้ พระโกกาลิกะได้กล่าวกับพระเทวทัตดังนี้ว่า
“พระสมณโคดม มีฤทธานุภาพมาก ทำอย่างไร พวกเราจึงจะทำลายสงฆ์ ทำลาย
จักรของพระสมณโคดมได้เล่า”

วัตถุ 5 ประการ

พระเทวทัตกล่าวว่า “มาเถิดท่านทั้งกลาย พวกเราจะเข้าไปเฝ้าพระ
สมณโคดมแล้วทูลขอวัตถุ 5 ประการ ว่า ‘พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัส
สรรเสริญความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่า
เลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยประการต่าง ๆ วัตถุ 5 ประการ
เหล่านี้ก็เป็นไปเพื่อความมักน้อยความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการ
น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยประการต่าง ๆ ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานวโรกาส ดังนี้
1. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดเข้าบ้าน ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
2. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีกิจนิมนต์
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ

เชิงอรรถ :
1 ทำลายสงฆ์ คือ ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน ทำลายจักร คือ ทำลายหลักคำสอน (จกฺกเภทายาติ อาณา-
เภทาย, วิ.อ. 2/410/108, จกฺกเภทนฺติ สาสนเภทํ วชิร. ฏีกา 343/680)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :441 }