เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 9. ทุติยทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอ
ทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่เกิดมา ข้า
พระพุทธเจ้า ไม่รู้จักการเสพเมถุนแม้ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้า
อย่างนั้น เธอทั้งหลายจงสอบถามภิกษุเหล่านี้” แล้วเสด็จจากที่ประทับเข้าพระวิหาร
หลังจากนั้น ภิกษุทั้งหลายสอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เมื่อถูก
สอบถามจึงได้รับสารภาพเรื่องนั้น
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “พวกท่านอ้างเอาบางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่องอื่นเป็นเลศ1
ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกหรือ”
ท่านทั้งสองยอมรับ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพระเมตติยะและพระกุมมชกะจึงอ้างเอาบางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่อง
อื่นเป็นเลศใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิท่านทั้งสองโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกเธออ้างเอา
บางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่องอื่นเป็นเลศใส่ความทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกจริงหรือ”
พวกเธอทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงอ้างเอาบางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่องอื่นเป็นเลศใส่ความทัพพ
มัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้

เชิงอรรถ :
1 “เลศ” คือ ข้ออ้าง, เรื่องเล็กๆ น้อยๆ, เลศนัย กิริยาอาการที่จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างใส่ความได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :431 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 9. ทุติยทุฎฐโทสสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ

[392] ก็ ภิกษุใด ขัดเคือง มีโทสะ ไม่แช่มชื่น อ้างเอาบางส่วนแห่ง
อธิกรณ์1 เรื่องอื่นเป็นเลศใส่ความภิกษุด้วยอาบัติปาราชิก โดยมุ่งหมายว่า “ทำ
อย่างไรจึงจะให้ภิกษุนั้นพ้นจากพรหมจรรย์นี้ได้” ครั้นสมัยต่อจากนั้น อันผู้ใด
ผู้หนึ่งโจทก็ตามไม่โจทก็ตาม อธิกรณ์นั้นเป็นอธิกรณ์เรื่องอื่น อ้างเอาบางส่วน
เป็นเลศ และภิกษุยอมรับผิด เป็นสังฆาทิเสส

เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ จบ

สิกขาบทวิภังค์

[393] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ หมายถึง ภิกษุอื่น
คำว่า ขัดเคือง มีโทสะ คือ โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
คำว่า ไม่แช่มชื่น คือ ไม่แช่มชื่นเพราะความโกรธนั้น เพราะมีโทสะนั้น
เพราะไม่พอใจนั้น และเพราะไม่ชอบใจนั้น
คำว่า แห่งอธิกรณ์เรื่องอื่น คือ เป็นอาบัติส่วนอื่น หรือเป็นอธิกรณ์ส่วนอื่น

อธิกรณ์ที่ชื่อว่าเป็นเรื่องอื่นจากอธิกรณ์

อธิกรณ์ชื่อว่าเป็นเรื่องอื่นจากอธิกรณ์อย่างไร
1. วิวาทาธิกรณ์ เป็นเรื่องอื่นจากอนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์และ
กิจจาธิกรณ์

เชิงอรรถ :
1 เรื่องที่สงฆ์จะต้องจัดต้องทำให้เรียบร้อย, คดีความ ปัญหา หรือกิจธุระของสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :432 }