เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 9. ทุติยทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

9. ทุติยทุฏฐโทสสิกขาบท
ว่าด้วยภิกษุขัดเคืองมีโทสะ สิกขาบทที่ 2
เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ

[391] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถาน
ที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะ กำลังลง
จากภูเขาคิชฌกูฏ มองเห็นแพะตัวผู้กับตัวเมียกำลังสืบพันธุ์กัน จึงกล่าวว่า “เอาเถิด
พวกเราจะสมมติแพะตัวผู้เป็นพระทัพพมัลลบุตร สมมติแพะตัวเมียเป็นภิกษุณีเมตติยา
จักกล่าวว่า “ครั้งก่อนพวกเรากล่าวหาพระทัพพมัลลบุตร ด้วยได้ยินมา แต่บัดนี้
พวกเราได้เห็นพระทัพพมุลลบุตรเสพเมถุนกับภิกษุณีเมตติยา ด้วยตนเอง” ท่าน
ทั้งสองได้สมมติพระทัพพมัลลบุตรเป็นแพะตัวผู้ สมมติภิกษุณีเมตติยาเป็นแพะตัว
เมีย แล้วแจ้งให้ภิกษุทั้งหลายทราบว่า “ครั้งก่อน ฯลฯ แต่บัดนี้ พวกเราได้เห็นพระ
ทัพพมัลลบุตรเสพเมถุนกับภิกษุณีเมตติยา ด้วยตนเอง”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนี้
ท่านพระทัพพมัลลบุตรจะไม่ทำกรรมเช่นนั้น” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าเคยทำตามที่ภิกษุ
เหล่านี้กล่าวหา”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคย่อม
ทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร” แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่าน
พระทัพพมัลลบุตร ฯลฯ แม้ครั้งที่ 3 ตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ
เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่ภิกษุเหล่านี้กล่าวหา” พระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร”


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 9. ทุติยทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอ
ทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่เกิดมา ข้า
พระพุทธเจ้า ไม่รู้จักการเสพเมถุนแม้ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้า
อย่างนั้น เธอทั้งหลายจงสอบถามภิกษุเหล่านี้” แล้วเสด็จจากที่ประทับเข้าพระวิหาร
หลังจากนั้น ภิกษุทั้งหลายสอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เมื่อถูก
สอบถามจึงได้รับสารภาพเรื่องนั้น
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “พวกท่านอ้างเอาบางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่องอื่นเป็นเลศ1
ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกหรือ”
ท่านทั้งสองยอมรับ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพระเมตติยะและพระกุมมชกะจึงอ้างเอาบางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่อง
อื่นเป็นเลศใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิท่านทั้งสองโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกเธออ้างเอา
บางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่องอื่นเป็นเลศใส่ความทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกจริงหรือ”
พวกเธอทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงอ้างเอาบางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่องอื่นเป็นเลศใส่ความทัพพ
มัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้

เชิงอรรถ :
1 “เลศ” คือ ข้ออ้าง, เรื่องเล็กๆ น้อยๆ, เลศนัย กิริยาอาการที่จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างใส่ความได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :431 }