เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 8. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วย
ประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านั้นจักสนทนาพระอภิธรรมกัน
จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ได้ฌานรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า
ภิกษุเหล่านั้นจักไม่รบกวนกัน
จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ชอบกล่าวติรัจฉานกถา ผู้มากไปด้วยการ
บำรุงร่างกายรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านี้จะอยู่ตามความพอใจ
ท่านพระทัพพมัลลบุตรนั้นเข้าเตโชกสิณ แล้วจัดแจงเสนาสนะด้วยแสงสว่างนั้น
สำหรับภิกษุที่มาในเวลาค่ำคืน
ภิกษุทั้งหลายจงใจมาในเวลาค่ำคืน ด้วยประสงค์ว่า “พวกเราจะชมอิทธิ
ปาฏิหาริย์ของท่านพระทัพพมัลลบุตร” ก็มี พวกเธอพากันเข้าไปหาท่านพระ
ทัพพมัลลบุตร กล่าวว่า “ท่านจงจัดแจงเสนาสนะให้พวกกระผม”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายต้องการพักที่ไหนเล่า
ข้าพเจ้าจะจัดแจงในที่ไหน”
ภิกษุเหล่านั้นจงใจอ้างที่ไกลๆ ว่า “ท่านจงจัดแจงเสนาสนะให้พวกกระผมที่
ภูเขาคิชฌกูฏ...ที่เหวสำหรับทิ้งโจร...ที่กาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ...ที่ถ้ำสัตตบรรณ
คูหาข้างภูเขาเวภาระ...ที่เงื้อมเขาสัปปโสณฑิกะใกล้สีตวัน...ที่ซอกเขาโคตมกะ...ที่
ซอกเขาตินทุกะ...ที่ซอกเขาตโปทกะ...ที่ตโปทาราม...ที่ชีวกัมพวัน...ท่านจงจัดแจง
เสนาสนะ ให้พวกกระผมที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรเข้าเตโชกสิณ ใช้องคุลีส่องแสงสว่างเดินนำหน้าภิกษุ
เหล่านั้น ท่านเหล่านั้นเดินตามพระทัพพมัลลบุตรไปด้วยแสงสว่างนั้น ท่านได้จัด
แจงเสนาสนะสำหรับภิกษุเหล่านั้น ชี้แจงว่า “นี่เตียง นี่ตั่ง นี่ฟูก นี่หมอน นี่ที่ถ่าย
อุจจาระ นี่ที่ถ่ายปัสสาวะ นี่น้ำฉัน นี่น้ำใช้ นี่ไม้เท้า นี่ระเบียบกติกาสงฆ์ ควรเข้า
เวลานี้ ควรออกเวลานี้” ครั้นจัดแจงเสร็จแล้วจึงกลับมาพระเวฬุวันวิหารตามเดิม

เรื่องพระทัพพมัลลบุตร จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 8. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ

[383] ก็สมัยนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระบวชใหม่และมี
บุญน้อย เสนาสนะของสงฆ์ชั้นเลว อาหารก็ชั้นเลว ตกถึงท่านทั้งสอง ชาวกรุง
ราชคฤห์ต้องการจะถวายบิณฑบาตแก่พระเถระทั้งหลายก็ถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง
แกงอ่อมบ้าง จัดปรุงพิเศษ แต่พวกเขาถวายอาหารธรรมดาแก่พระเมตติยะและ
พระภุมมชกะ ตามแต่จะหาได้ คือปลายข้าวกับน้ำผักดอง
วันหนึ่ง ท่านทั้งสองกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันเสร็จแล้ว เที่ยวถามภิกษุ
เถระว่า “มีอาหารอะไรบ้าง ในโรงฉันสำหรับพวกท่าน”
พระเถระบางพวกตอบว่า “คุณทั้งสอง พวกเรามีเนยใส น้ำมัน แกงอ่อม”
พระเมตติยะและพระภุมมชกะ กล่าวว่า “พวกกระผมไม่มีอะไรเลย ขอรับ มี
แต่อาหารธรรมดา ตามแต่จะหาได้ คือปลายข้าวกับน้ำผักดอง”
สมัยต่อมา คหบดีผู้ชอบถวายอาหารอย่างดี ถวายอาหารแก่สงฆ์วันละ 4 ที่
เป็นนิตยภัต คหบดีพร้อมบุตรภรรยาอังคาส1 อยู่ใกล้ๆ ในโรงฉัน คนอื่นๆ ถาม
ถึงความต้องการข้าวสุก ถามถึงความต้องการกับข้าว ถามถึงความต้องการน้ำมัน
ถามถึงความต้องการแกงอ่อม
วันต่อมา ท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้เป็นภัตตุทเทสก์นิมนต์พระเมตติยะและ
พระภุมมชกะไปฉันภัตตาหารของคหบดีในวันรุ่งขึ้น วันเดียวกันนั้น คหบดีเดินทางไป
อารามด้วยธุระบางอย่าง ได้เข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตรถึงสำนัก ครั้นถึงแล้วได้
ไหว้ท่านพระทัพพมัลลบุตรแล้ว นั่งลง ณ ที่สมควร ท่านทัพพมัลลบุตร ชี้แจงคหบดี
ผู้ชอบถวายอาหารอย่างดีให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้ว คหบดีผู้ชอบถวายอาหารอย่างดี
ถามว่า “ภัตตาหารที่จะถวายในวันพรุ่งนี้ที่เรือนของข้าพเจ้า ท่านนิมนต์ภิกษุรูปไหน
ไปฉันขอรับ”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรตอบว่า “อาตมาจัดให้พระเมตติยะและพระภุมมชกะ
ไปฉัน”

เชิงอรรถ :
1 “อังคาส” หมายถึงประเคน หรือถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :415 }