เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 6. กุฎิการสิกขาบท นิทานวัตถุ

ท่านขอแก้วมณีจนทำให้ข้าพเจ้าหวาดกลัว เหมือน
ชายหนุ่มถือดาบคมที่ลับด้วยหินทำให้ผู้อื่นสะดุ้งกลัว
ข้าพเจ้าให้แก้วมณีท่านไม่ได้ ท่านเป็นคนขอเกินไป
ข้าพเจ้าจะไม่มาอาศรมท่านอีกแล้ว”1
ภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้ว มณีกัณฐนาคราชจากไปพร้อมกับรำพึงว่า “ภิกษุขอ
แก้วมณี ภิกษุอยากได้แก้วมณี” ไปแล้วไม่หวนกลับมาอีกเลย ต่อมาฤๅษีผู้น้อง
กลับซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งยิ่งกว่าแต่ก่อนเพราะไม่ได้พบ
นาคราชรูปงามน่าดู ฤๅษีผู้พี่เห็นฤๅษีผู้น้องซูบผอม ฯลฯ ถามว่า “เพราะเหตุไรเธอ
จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งยิ่งกว่าแต่ก่อน” ฤๅษีผู้น้องตอบว่า
“กระผมซูบผอม ฯลฯ เพราะกระผมไม่เห็นนาคราชรูปงาม น่าดูนั้น”
ฤๅษีผู้พี่กล่าวเป็นคาถาว่า
“บุคคลไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา อนึ่งเพราะ
ขอเกินไปย่อมเป็นที่เกลียดชัง นาคราชถูกฤๅษีขอ
แก้วมณี จึงไม่หวนกลับมาให้ฤๅษีเห็นอีกเลย”2
ภิกษุทั้งหลาย การขอ การออกปากขอ ย่อมไม่เป็นที่พอใจแม้ของพวกสัตว์
ดิรัจฉานเหล่านั้น ไม่จำต้องกล่าวถึงพวกมนุษย์เลย

เรื่องนกฝูงใหญ่

[345] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง
เชิงภูเขาหิมพานต์ ไม่ไกลจากที่นั้นมีหนองน้ำใหญ่ นกฝูงใหญ่เที่ยวหาอาหารที่
หนองน้ำตลอดทั้งวัน พอตกเย็นก็เข้าไปอาศัยราวป่า ภิกษุนั้นรำคาญเสียงนกจึง
เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ กราบไหว้เราแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร เราถามเธอว่า “ภิกษุ
เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางมาโดยไม่ลำบากหรือ เธอมา
จากไหน”

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ชา. 27/7-8/75
2 ขุ.ชา. 27/9/75

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :381 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 6. กุฎิการสิกขาบท นิทานวัตถุ

ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “สบายดี พระพุทธเจ้าข้า พอเป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า
ข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาโดยไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า แถบภูเขาหิมพานต์มีราว
ป่าใหญ่ ไม่ไกลจากที่นั้น มีหนองน้ำใหญ่ นกฝูงใหญ่เที่ยวหาอาหารที่หนองน้ำ
ตลอดทั้งวัน พอตกเย็นก็เข้าไปอาศัยราวป่า ข้าพระพุทธเจ้ารำคาญเสียงนกจึงหนี
มาจากที่นั้น”
“เธอต้องการไม่ให้ฝูงนกมาใช่ไหม”
“ข้าพระองค์ ต้องการไม่ให้ฝูงนกมา พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าอย่างนั้น เธอจงกลับไปยังราวป่า แล้วเวลาปฐมยามแห่งราตรี ประกาศขึ้น
3 ครั้งว่า ‘นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ 1
อัน’ เวลามัชฌิมยามประกาศขึ้น 3 ครั้งว่า ‘นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา
เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ 1 อัน’ เวลาปัจฉิมยามก็ประกาศขึ้น 3 ครั้งว่า
‘นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ 1 อัน’
ต่อมา ภิกษุนั้นกลับไปยังราวป่า เวลาปฐมยามแห่งราตรี ประกาศขึ้น 3 ครั้งว่า
“นกที่อาศัยราวป่านี้มีเท่าใด จงฟังเรา เราต้องการขน จงให้ขนแก่เราตัวละ 1 อัน”
เวลามัชฌิมยาม ฯลฯ ปัจฉิมยาม ก็ประกาศเช่นนั้น 3 ครั้งว่า “นกที่อาศัยราวป่านี้
มีเท่าใด จงฟังข้าพเจ้า ฯลฯ จงให้ขนแก่เราตัวละ 1 อัน” ครั้นฝูงนกรู้ว่า “ภิกษุขอขน
ภิกษุต้องการขน” ก็พากันบินหนีจากไปแล้วไม่หวนกลับมาอีกเลย
ภิกษุทั้งหลาย การขอ การออกปากขอ ย่อมไม่เป็นที่พอใจแม้ของพวกสัตว์
ดิรัจฉานเหล่านั้น ไม่จำต้องกล่าวถึงพวกมนุษย์เลย

เรื่องรัฐบาลกุลบุตร

[346] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว บิดาของรัฐบาลกุลบุตร กล่าวเป็น
คาถาว่า
“ลูกรัฐบาล คนจำนวนมากพากันมาขอพ่อทั้งที่พ่อก็
ไม่รู้จัก ไฉนลูกจึงไม่ขอพ่อบ้างเล่า”
รัฐบาลกุลบุตรกล่าวตอบบิดาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :382 }