เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 5. สัญจริตตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระอนุบัญญัติ

[301] อนึ่ง ภิกษุใดทำหน้าที่ชักสื่อ คือ บอกความประสงค์ของชายแก่
หญิงก็ดี บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี เพื่อให้เป็นภรรยาหรือเป็นชู้รัก
โดยที่สุดแม้เพื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว เป็นสังฆาทิเสส

เรื่องนักเลงหญิง จบ
สิกขาบทวิภังค์

[302] คำว่า อนึ่ง... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ทำหน้าที่ชักสื่อ ความว่า ไปหาฝ่ายชายตามที่หญิงขอร้อง หรือไปหา
ฝ่ายหญิงตามที่ชายขอร้อง
คำว่า บอกความประสงค์ของชายแก่หญิงก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของ
ชายแก่หญิง
คำว่า บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของ
หญิงแก่ชาย
คำว่า เพื่อให้เป็นภรรยา คือ บอกว่า เธอจักเป็นภรรยา
คำว่า เพื่อให้เป็นชู้รัก คือ บอกว่า เธอจักเป็นชู้รัก
คำว่า โดยที่สุดแม้เพื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว คือ บอกว่า เธอจักเป็นภรรยา
ชั่วคราว
คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ฯลฯ
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า “เป็นสังฆาทิเสส”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :344 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 5. สัญจริตตสิกขาบท บทภาชนีย์

บทภาชนีย์
มาติกา
หญิง 10 จำพวก

[303] หญิง 10 จำพวก คือ
1. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของมารดา
2. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของบิดา
3. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของมารดาบิดา
4. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของพี่ชายน้องชาย
5. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของพี่สาวน้องสาว
6. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของญาติ
7. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของตระกูล
8. หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง
9. หญิงที่มีคู่หมั้น
10. หญิงที่มีกฎหมายคุ้มครอง

ภรรยา 10 จำพวก

ภรรยา 10 จำพวก คือ
1. ภรรยาสินไถ่
2. ภรรยาที่อยู่ด้วยความพอใจ
3. ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
4. ภรรยาที่อยู่เพราะแผ่นผ้า
5. ภรรยาที่เข้าพิธีสมรส
6. ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
7. ภรรยาที่เป็นทั้งคนรับใช้เป็นทั้งภรรยา
8. ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างเป็นทั้งภรรยา
9. ภรรยาที่เป็นเชลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :345 }