เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 5. สัญจริตตสิกขาบท นิทานวัตถุ

ทราบว่าพวกท่านเป็นใครหรือเป็นพวกพ้องของใคร อีกประการหนึ่ง ดิฉันมีเครื่อง
ประดับมาก ถ้าจะต้องออกไปนอกเมือง ดิฉันไม่ไป’ ขอพระคุณเจ้าโปรดส่งหญิง
แพศยาคนนั้นมาให้พวกกระผมด้วยเถิด”
ลำดับนั้น พระอุทายีเข้าไปหาหญิงแพศยาถึงที่อยู่ถามว่า “ทำไมเธอไม่ไปหา
คนพวกนั้นเล่า”
นางตอบว่า “ดิฉันไม่ทราบว่า คนพวกนี้เป็นใครหรือเป็นพวกพ้องของใคร
อีกประการหนึ่งดิฉันมีทรัพย์สมบัติมาก มีเครื่องประดับมาก ถ้าจะต้องออกไปนอก
เมือง ดิฉันไม่ไป เจ้าค่ะ”
“เธอไปหาคนพวกนี้เถิด อาตมารู้จักพวกเขาดี”
“ถ้าพระคุณเจ้ารู้จัก ดิฉันก็จะไป เจ้าค่ะ”
ลำดับนั้น พวกนักเลงพาหญิงแพศยาคนนั้นไปเที่ยวในอุทยาน ต่อมา อุบาสก
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระอุทายีจึงชักสื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราวเล่า”
พวกภิกษุได้ยินอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงชักสื่อให้อยู่
ร่วมกับชั่วคราวเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุทายีโดยประการต่าง ๆ แล้ว
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอชักสื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว
จริงหรือ” พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ ไม่สมควร ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงชักสื่อ
ให้อยู่ร่วมกันชั่วคราวเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 5. สัญจริตตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระอนุบัญญัติ

[301] อนึ่ง ภิกษุใดทำหน้าที่ชักสื่อ คือ บอกความประสงค์ของชายแก่
หญิงก็ดี บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี เพื่อให้เป็นภรรยาหรือเป็นชู้รัก
โดยที่สุดแม้เพื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว เป็นสังฆาทิเสส

เรื่องนักเลงหญิง จบ
สิกขาบทวิภังค์

[302] คำว่า อนึ่ง... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ทำหน้าที่ชักสื่อ ความว่า ไปหาฝ่ายชายตามที่หญิงขอร้อง หรือไปหา
ฝ่ายหญิงตามที่ชายขอร้อง
คำว่า บอกความประสงค์ของชายแก่หญิงก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของ
ชายแก่หญิง
คำว่า บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของ
หญิงแก่ชาย
คำว่า เพื่อให้เป็นภรรยา คือ บอกว่า เธอจักเป็นภรรยา
คำว่า เพื่อให้เป็นชู้รัก คือ บอกว่า เธอจักเป็นชู้รัก
คำว่า โดยที่สุดแม้เพื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว คือ บอกว่า เธอจักเป็นภรรยา
ชั่วคราว
คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ฯลฯ
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า “เป็นสังฆาทิเสส”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :344 }