เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 4. อัตตกามปาริจริยสิกขาบท วินีตวัตถุ

เรื่องหญิงต้องการมีโชค 1 เรื่อง

สมัยนั้น หญิงคนหนึ่งถามภิกษุที่นางอุปถัมภ์ว่า “พระคุณเจ้า ทำอย่างไร
ดิฉันจึงจะมีโชค” “น้องหญิง ถ้าอย่างนั้นเธอจงถวายทานอันเลิศ” “พระคุณเจ้า
อะไรชื่อว่าทานอันเลิศ” “เมถุนธรรม” ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
สังฆาทิเสสหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ 4)

เรื่องหญิงต้องการถวายทานอันเลิศ 1 เรื่อง

สมัยนั้น หญิงคนหนึ่งถามภิกษุที่นางอุปถัมภ์ว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันจะถวาย
อะไรดีแก่พระคุณเจ้า” “น้องหญิง ถ้าอย่างนั้นเธอจงถวายทานอันเลิศ” “พระคุณเจ้า
อะไรชื่อว่าทานอันเลิศ” “เมถุนธรรม” ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
สังฆาทิเสสหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ 5)

เรื่องหญิงต้องการอุปัฏฐากด้วยสิ่งที่เลิศ 1 เรื่อง

สมัยนั้น หญิงคนหนึ่งถามภิกษุที่นางอุปถัมภ์ว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันจะ
อุปัฏฐากพระคุณเจ้าด้วยอะไรดี” “น้องหญิง ด้วยทานอันเลิศ” “พระคุณเจ้า อะไร
ชื่อว่าทานอันเลิศ” “เมถุนธรรม” ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
สังฆาทิเสสหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ 6)

เรื่องหญิงต้องการไปสุคติ 1 เรื่อง

สมัยนั้น หญิงคนหนึ่งถามภิกษุที่นางอุปถัมภ์ว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันจะไปสุคติ
ได้อย่างไร” “น้องหญิง ถ้าอย่างนั้น เธอจงถวายทานอันเลิศ” “พระคุณเจ้า อะไรชื่อ
ว่าทานอันเลิศ” “เมถุนธรรม” ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสส
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ 7)

อัตตกามปาริจริยสิกขาบทที่ 4 จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 5. สัญจริตตสิกขาบท นิทานวัตถุ

5. สัญจริตตสิกขาบท
ว่าด้วยการชักสื่อ
เรื่องพระอุทายี

[296] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเป็นพระที่ใกล้ชิด
ตระกูลในกรุงสาวัตถี ไปมาหาสู่ตระกูลเป็นอันมากที่ตนเห็นว่ามีเด็กหนุ่มที่ยังไม่มี
ภรรยาหรือเด็กสาวที่ยังไม่มีสามี กล่าวยกย่องคุณสมบัติของเด็กสาวให้มารดาบิดา
ของเด็กหนุ่มฟังว่า “สาวน้อยของตระกูลโน้น รูปงาม น่าดู น่าชม ฉลาดหลักแหลม
ไหวพริบดี ขยันไม่เกียจคร้าน สาวน้อยคนนั้นเหมาะสมกับชายหนุ่มคนนี้”
มารดาบิดาของเด็กหนุ่มก็กล่าวว่า “พระคุณเจ้า คนเหล่านั้นไม่รู้จักพวกเราว่า
‘เป็นใครหรือพวกพ้องของใคร’ ถ้าพระคุณเจ้าจะพูดทาบทามให้ พวกเราก็จะสู่ขอ
เด็กสาวนั้นมาให้เด็กหนุ่มคนนี้” พระอุทายีนั้นไปกล่าวยกย่องคุณสมบัติของเด็ก
หนุ่มให้มารดาบิดาของเด็กสาวฟังว่า “ชายหนุ่มของตระกูลโน้น รูปงาม น่าดู น่าชม
ฉลาดหลักแหลมไหวพริบดี ขยันไม่เกียจคร้าน ชายหนุ่มคนนั้นเหมาะสมกับสาว
น้อยคนนี้” ข้างมารดาบิดาของเด็กสาวก็กล่าวว่า “พระคุณเจ้า คนเหล่านั้นไม่รู้จัก
พวกเราว่า ‘เป็นใครหรือพวกพ้องของใคร’ การที่จะพูดยกสาวน้อยให้เขาก็ดูกระไรอยู่
ถ้าพระคุณเจ้าช่วยไปพูดให้เขามาสู่ขอ พวกข้าพเจ้าก็จะยกสาวน้อยคนนี้ให้ชายหนุ่ม
คนนั้น” ด้วยวิธีอย่างนี้ พระอุทายีจึงให้มารดาบิดาของหนุ่มสาวทำอาวาหมงคลบ้าง
วิวาหมงคลบ้าง หรือชักนำให้สู่ขอหมั้นหมายกันบ้าง
[297] สมัยนั้น บุตรสาวของหญิงม่ายผู้เคยเป็นภรรยาโหร1คนหนึ่ง
มีรูปงาม น่าดู น่าชม พวกสาวกอาชีวกจากหมู่บ้านอื่นมาบอกภรรยาโหรนั้นว่า
“แม่คุณ ท่านจงยกเด็กสาวคนนี้ ให้ชายหนุ่มของพวกเราเถิด”

เชิงอรรถ :
1 คณยตีติ คณโก ผู้คำณวน, โหร, หมอดู (อภิธา.ฏี. คาถา 347), ปุราณคณกิยาติ เอกสฺส คณกสฺส
ภริยา, สา ตสฺมึ ชีวมาเน คณกีติ ปญฺญายิตฺถ, มเต ปน ปุราณคณกีติ สงฺขํ คตา ภรรยาของโหรคนหนึ่ง
เมื่อสามียังมีชีวิตเรียกขานกันว่า “คณกี” พอสามีตายถูกเรียกว่า “ปุราณคณกี” (หญิงม่ายผู้เคยเป็นภรรยา
โหร) (วิ.อ. 2/297/43)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :338 }