เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 4. อัตตกามปาริจริยสิกขาบท นิทานวัตถุ

หญิงม่ายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้
ไม่มียางอาย ทุศีล ชอบพูดเท็จ แต่ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ
ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกเธอไม่มีความเป็นสมณะ
ไม่มีความเป็นพราหมณ์ ความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ของพวกเธอเสื่อมสิ้น
ไปแล้ว พวกเธอจะเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ได้อย่างไร พวกเธอปราศจากความเป็น
สมณะ ปราศจากความเป็นพราหมณ์ ไฉนพระสมณอุทายีขอเมถุนธรรมกะเราแล้ว
กลับถ่มน้ำลายกล่าวว่า ‘ใครจักลูบคลำหญิงถ่อยมีกลิ่นเหม็นคนนี้ได้’ แล้วจากไปเล่า
เรามีอะไรชั่วนักหรือ มีอะไรที่มีกลิ่นเหม็นนักหรือ เราเลวกว่าหญิงคนอื่นอย่างไร”
แม้หญิงพวกอื่นก็พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มียางอาย ทุศีล ชอบกล่าวเท็จ ฯลฯ หญิงม่ายนี้มีอะไรชั่วนักหรือ
มีอะไรที่มีกลิ่นเหม็นนักหรือ นางเลวกว่าหญิงอื่นอย่างไร”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินหญิงเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อยสันโดษมีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึงพากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงพูดสรรเสริญการบำเรอความใคร่ของตนต่อหน้า
มาตุคามเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุทายีโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอกล่าวสรรเสริญการบำเรอความ
ใคร่ของตนต่อหน้ามาตุคาม จริงหรือ” ท่านทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอ ไม่สมควร ไม่คล้อย
ตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้
กล่าวสรรเสริญการให้บำเรอความใคร่ของตนต่อหน้ามาตุคามเล่า โมฆบุรุษ เรา
แสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายกำหนัด มิใช่เพื่อความกำหนัด ฯลฯ เรา
บอกการระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ โมฆบุรุษ
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุ
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 4. อัตตกามปาริจริยสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ

[291] ก็ ภิกษุใดถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตแปรปรวน กล่าวสรรเสริญ
การบำเรอความใคร่ของตนต่อหน้ามาตุคาม ด้วยคำที่พาดพิงเมถุนว่า “น้องหญิง
หญิงใดบำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเช่นเราด้วยธรรมนั่น
การบำเรอนี้ของหญิง นั้นเป็นการบำเรอชั้นยอด” เป็นสังฆาทิเสส

เรื่องพระอุทายี จบ

สิกขาบทวิภังค์

[292] คำว่า ก็... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ถูกราคะครอบงำแล้ว คือ มีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
คำว่า แปรปรวน ความว่า จิตกำหนัดแล้วชื่อว่าแปรปรวนบ้าง จิตโกรธแล้ว
ชื่อว่าแปรปรวนบ้าง จิตหลงแล้วชื่อว่าแปรปรวนบ้าง แต่จิตกำหนัดแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์ว่า แปรปรวน ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่สัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต คำ
หยาบและคำสุภาพ
คำว่า ต่อหน้ามาตุคาม คือ ที่ใกล้มาตุคาม ไม่ไกลจากมาตุคาม
คำว่า ความใคร่ของตน ได้แก่ ความใคร่ของตน เหตุของตน ความประสงค์
ของตน การบำเรอของตน
คำว่า นี้...ชั้นยอด คือ นี้เป็นยอด นี้ประเสริฐที่สุด นี้เป็นชั้นแนวหน้า นี้สูงสุด
นี้เป็นสิ่งเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :330 }