เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 พระอนุบัญญัติ

ต่อมา พวกเธอถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคะและโรคกลุ้มรุม จึง
เข้าไปหาท่านพระอานนท์เรียนว่า “ท่านพระอานนท์ พวกกระผมไม่ติเตียนพระพุทธ
ไม่ติเตียนพระธรรม ไม่ติเตียนพระสงฆ์ พวกกระผมติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่น
พวกกระผมไม่มีวาสนา มีบุญน้อย บวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดี
แล้ว ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต บัดนี้ ถ้า
พวกกระผมได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคอีก พวกกระผมพึงเห็น
แจ้งกุศลธรรม หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรมตั้งแต่หัวค่ำจน
รุ่งสาง พวกกระผมขอโอกาส ท่านพระอานนท์ ได้โปรดกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มี
พระภาคเถิด”
พระอานนท์รับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่ตถาคตจะถอน
ปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพราะพวกวัชชีหรือวัชชีบุตรเป็นเหตุ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเป็นภิกษุ ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผย
ความท้อแท้ เสพเมถุนธรรมทั้งที่ยังเป็นภิกษุ ผู้นั้นมาแล้ว สงฆ์ไม่พึงให้อุปสมบท
แต่ผู้ใดเป็นภิกษุ บอกคืนสิกขา เปิดเผยความท้อแท้ แล้วเสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมา
แล้ว สงฆ์พึงให้อุปสมบท” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ

[44] อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ไม่
บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้ เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้กับสัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 สิกขาบทวิภังค์

สิกขาบทวิภังค์

[45] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด มีการงาน มีชาติวรรณะ มีชื่อ มี
ตระกูล มีลักษณนิสัย มีคุณธรรมมีอารมณ์อย่างไร เป็นเถระ นวกะหรือมัชฌิมะ1 นี้
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อาศัยการเที่ยวขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะใช้ผืนผ้าที่ถูกทำให้เสียราคา2 ชื่อว่า ภิกษุ
เพราะเรียกกันโดยโวหาร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะเป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้มีสาระ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ยัง
ต้องศึกษา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ที่สงฆ์
พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง สมควรแก่เหตุ ในภิกษุที่
กล่าวมานั้น ภิกษุผู้ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง
สมควรแก่เหตุนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า สิกขา ได้แก่ สิกขา 3 อย่าง คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ
อธิปัญญาสิกขา ในสิกขา 3 นั้น อธิสีลสิกขานี้ที่ทรงประสงค์เอาในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สาชีพ หมายถึง สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ภิกษุ
ศึกษาสาชีพนั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยสาชีพ
คำว่า ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้ มีพุทธาธิบายว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการบอกคืนสิกขาก็มี การเปิดเผยความ
ท้อแท้ และเป็นการบอกคืนสิกขาก็มี

เชิงอรรถ :
1 เถระ พระผู้ใหญ่ ตามวินัยกำหนดว่ามีพรรษาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป นวกะ ภิกษุผู้มีพรรษายังไม่ครบ 5
มัชฌิมะ ภิกษุผู้มีพรรษาครบ 5 แล้ว แต่ยังไม่ถึง 10 พรรษา(วิ.อ. 1/45/253)
2 เสียราคา เพราะทำให้เสียสี 1 เพราะใช้ศัตราตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย 1 เพราะทำให้เป็นตำหนิด้วยการ
ทำพินทุกัปปะ 1 (วิ.อ. 1/45/253-4)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :33 }