เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

แล้วนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระ
สมณโคดมไม่ยอมไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย
หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง เรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมานั้นจริงทีเดียว การที่ท่านพระโคดม
ทำเช่นนั้นไม่สมควรเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรายังไม่เห็นใครไม่ว่าในโลกไหนๆ
ในบริษัทไหนๆ ที่เราควรจะไหว้ ลุกรับหรือเชื้อเชิญให้นั่ง เพราะว่าตถาคตไหว้ ลุกรับ
หรือเชื้อเชิญผู้ใดให้นั่ง ศีรษะของผู้นั้นจะต้องขาดตกไป”
[3] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีรส1”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะตถาคตละรส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[4] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีสมบัติ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะตถาคตละสมบัติคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[5] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม สอนไม่ให้ทำ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอดถึงการไม่ให้ทำบาป
อกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”

เชิงอรรถ :
1 ข้อที่พราหมณ์ตำหนิพระผู้มีพระภาคว่า เป็นคนไม่มีรส ในที่นี้ หมายถึงเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ
เช่น การกราบไหว้ การต้อนรับ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ละรสได้แล้ว หมายถึงพระองค์ละ
อัสสาทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้แล้ว จึงเป็นคนไม่มีรส คือไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส (วิ.อ. 1/3/125-126)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :3 }