เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 2. กายสังสัคคสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ

[270] ก็ภิกษุใดถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตแปรปรวน ถูกต้องกายกับ
มาตุคาม คือ จับมือ จับช้องผมหรือลูบคลำอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นสังฆาทิเสส

เรื่องพระอุทายี จบ

สิกขาบทวิภังค์

[271] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ถูกราคะครอบงำแล้ว คือ มีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
คำว่า แปรปรวน ความว่า จิตกำหนัดแล้วชื่อว่าแปรปรวนบ้าง จิตโกรธแล้ว
ชื่อว่าแปรปรวนบ้าง จิตหลงแล้วชื่อว่าแปรปรวนบ้าง แต่จิตกำหนัดแล้ว พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า แปรปรวน ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่สัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย หญิงมนุษย์นั้นโดยที่สุดกระทั่งเด็กหญิงซึ่งเกิดในวันนั้น หญิงโตกว่า
นี้ไม่ต้องกล่าวถึง
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ถูกต้อง คือ ท่านกล่าวถึงความประพฤติล่วงเกิน
ที่ชื่อว่า มือ หมายเอาตั้งแต่ข้อศอกถึงปลายเล็บ
ที่ชื่อว่า ช้องผม ได้แก่ เส้นผมล้วนๆ หรือแซมด้าย แซมดอกไม้ แซมเงิน
แซมทอง แซมแก้วมุกดา หรือแซมแก้วมณี
ที่ชื่อว่า อวัยวะ คือ ยกเว้นมือและช้องผม นอกนั้นชื่อว่าอวัยวะ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 2. กายสังสัคคสิกขาบท บทภาชนีย์

บทภาชนีย์
มาติกา

[272] จับต้อง ลูบคลำ ลูบลง ลูบขึ้น จับกดลง จับให้เงยขึ้น ฉุดมา ผลักไป
นวด บีบ จับ ต้อง
ที่ชื่อว่า จับต้อง คือ กิริยาเพียงแต่ลูบคลำ
ที่ชื่อว่า ลูบคลำ คือ ลูบคลำไปทางโน้นทางนี้
ที่ชื่อว่า ลูบลง คือ ลูบลงเบื้องล่าง
ที่ชื่อว่า ลูบขึ้น คือ ลูบขึ้นเบื้องบน
ที่ชื่อว่า จับกดลง คือ จับโน้มลงข้างล่าง
ที่ชื่อว่า จับให้เงยขึ้น คือ จับให้เงยขึ้นข้างบน
ที่ชื่อว่า ฉุดมา คือ รั้งมา
ที่ชื่อว่า ผลักไป คือ ผลักออกไป
ที่ชื่อว่า นวด คือ จับอวัยวะแล้วบีบนวด
ที่ชื่อว่า บีบ คือ บีบรัดกับผ้าหรืออาภรณ์บางอย่าง
ที่ชื่อว่า จับ คือ ลักษณะเพียงแต่จับ
ที่ชื่อว่า ต้อง คือ ลักษณะเพียงสัมผัส
คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส
ชักเข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัตและเรียกเข้าหมู่ คณะก็ทำไม่ได้ ภิกษุรูปเดียวก็ทำไม่ได้
ฉะนั้น จึงตรัสว่า เป็นสังฆาทิเสส
คำว่า “เป็นสังฆาทิเสส” นี้ เป็นการขนานนาม เป็นชื่อของหมวดอาบัตินั้น
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เป็นสังฆาทิเสส”