เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 2. กายสังสัคคสิกขาบท นิทานวัตถุ

ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม
พวกเธอไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพราหมณ์ ความเป็นสมณะความเป็น
พราหมณ์ของพวกเธอเสื่อมสิ้นไปแล้ว พวกเธอจะเป็นสมณะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร
พวกเธอปราศจากความเป็นสมณะ ปราศจากความเป็นพราหมณ์ ไฉนพระสมณ
อุทายี จับต้องอวัยวะน้อยใหญ่ของภรรยาเราเล่า ต่อไปหญิงผู้มีตระกูล ลูกสาวผู้มีตระกูล
หญิงสาวผู้มีตระกูล หญิงสะใภ้ผู้มีตระกูล สาวใช้ประจำตระกูลจะไม่กล้าไปอาราม
หรือวิหารเป็นแน่ เพราะถ้าพวกเธอไปก็จะต้องถูกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
ประทุษร้ายเอา”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพราหมณ์ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มัก
น้อยสันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึงตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงถูกต้องกายกับมาตุคามเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลาย
ตำหนิพระอุทายีโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
ทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่าเธอถูกต้องกายกับมาตุคามจริงหรือ”
ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า
“โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของ
สมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงถูกต้องกายกับมาตุคามเล่า เราแสดงธรรม
โดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อความกำหนัด ฯลฯ เราบอก
การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ได้เลย
ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวก
ก็จะกลายเป็นอื่นไป” ตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ฯลฯ คุณแห่งการปรารภ
ความเพียร แล้วทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมกับเรื่องนั้นแล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :292 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 2. กายสังสัคคสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ

[270] ก็ภิกษุใดถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตแปรปรวน ถูกต้องกายกับ
มาตุคาม คือ จับมือ จับช้องผมหรือลูบคลำอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นสังฆาทิเสส

เรื่องพระอุทายี จบ

สิกขาบทวิภังค์

[271] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ถูกราคะครอบงำแล้ว คือ มีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
คำว่า แปรปรวน ความว่า จิตกำหนัดแล้วชื่อว่าแปรปรวนบ้าง จิตโกรธแล้ว
ชื่อว่าแปรปรวนบ้าง จิตหลงแล้วชื่อว่าแปรปรวนบ้าง แต่จิตกำหนัดแล้ว พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า แปรปรวน ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่สัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย หญิงมนุษย์นั้นโดยที่สุดกระทั่งเด็กหญิงซึ่งเกิดในวันนั้น หญิงโตกว่า
นี้ไม่ต้องกล่าวถึง
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ถูกต้อง คือ ท่านกล่าวถึงความประพฤติล่วงเกิน
ที่ชื่อว่า มือ หมายเอาตั้งแต่ข้อศอกถึงปลายเล็บ
ที่ชื่อว่า ช้องผม ได้แก่ เส้นผมล้วนๆ หรือแซมด้าย แซมดอกไม้ แซมเงิน
แซมทอง แซมแก้วมุกดา หรือแซมแก้วมณี
ที่ชื่อว่า อวัยวะ คือ ยกเว้นมือและช้องผม นอกนั้นชื่อว่าอวัยวะ