เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 พระบัญญัติ

10. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย1”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ

ก็ ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก2 หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
สุทินภาณวาร จบ

เรื่องลิงตัวเมีย

[40] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งให้อาหารเลี้ยงลิงตัวเมียในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
แล้วเสพเมถุนธรรมกับนางลิงนั้น ครั้นเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ต่อมาภิกษุหลายรูปจาริกไปตามเสนาสนะ เดินผ่าน
ไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น นางลิงเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลจึงตรงเข้าไปหา
แล้วส่ายสะเอว แกว่งหาง โก่งตะโพกขึ้น ทำท่าทางต่างๆ ต่อหน้าภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นคงจะเสพเมถุนธรรมกับนางลิงตัว
นี้แน่ แล้วแอบอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่งจนกระทั่งภิกษุเจ้าถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในกรุง
เวสาลี แล้วถืออาหารบิณฑบาตกลับมา

เชิงอรรถ :
1 ข้อ 1,2 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือสงฆ์
ข้อ 3,4 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล
ข้อ 5,6 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
ข้อ 7,8 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ 9,10 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา
ข้อ 10 คำว่า “เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย” หมายถึง เพื่อเชิดชู ค้ำจุน ประคับประคองพระวินัย 4 อย่าง คือ
สังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. 1/39/236-237)
2 เป็นผู้พ่ายแพ้ ถึงความพ่ายแพ้ คือ เป็นผู้เคลื่อน พลัดตก เหินห่างจากพระสัทธรรม (สารตฺถ.ฏีกา. 2/
55/103-104), ปาราชิกศัพท์นั้น หมายถึงตัวสิกขาบท หมายถึงตัวอาบัติ หมายถึงบุคคล ในที่นี้หมายถึง
บุคคล (วิ.อ. 1/55/277).
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :29 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 พระบัญญัติ

[41] ขณะนั้น นางลิงได้เข้าไปหาภิกษุเจ้าถิ่นนั้น ครั้นภิกษุเจ้าถิ่นฉัน
บิณฑบาตนั้นส่วนหนึ่งแล้ว ได้แบ่งอีกส่วนหนึ่งให้แก่นางลิง เมื่อมันกินอาหารแล้วได้
โก่งตะโพกให้ ภิกษุเจ้าถิ่นจึงเสพเมถุนธรรมกับมัน
ทันใดนั้น ภิกษุเหล่านั้นออกจากที่ซ่อน กล่าวกับภิกษุเจ้าถิ่นว่า “ท่าน พระผู้
มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไร ท่านจึงเสพเมถุนธรรมกับนาง
ลิงนี้เล่า”
ท่านกล่าวแย้งว่า “จริงท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้น ใช้เฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่ใช้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “พระบัญญัตินั้นใช้ได้เหมือนกันทั้งในหญิงมนุษย์และ
ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมิใช่หรือ การกระทำของท่านไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม
ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ท่านบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอด
ชีวิตเล่า พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด
มิใช่เพื่อความกำหนัด ฯลฯ ตรัสบอกการระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดย
ประการต่างๆ มิใช่หรือ การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่
เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่างๆ แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญญัติ

[42] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอเสพเมถุนธรรมกับนางลิง จริงหรือ”
เธอ ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของ
สมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิตเล่า เราแสดงธรรมโดยประการ
ต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด ฯลฯ เราบอกการระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้
โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :30 }