เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 สุทินนภาณวาร

โมฆบุรุษ ในการที่เธอเสพอสัทธรรม ซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาท
ของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ ต้องทำกัน
สอง ต่อสองนี้มีโทษมาก เธอเป็นคนแรกที่ก่ออกุศลธรรมก่อนใครๆ การทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น
ได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
บางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระสุทินโดยประการต่าง ๆ แล้ว ได้ตรัสโทษ
แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความ
เกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ ความ
ขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร
โดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดย
อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ
1. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
2. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
4. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
5. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
6. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
7. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :28 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 พระบัญญัติ

10. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย1”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ

ก็ ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก2 หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
สุทินภาณวาร จบ

เรื่องลิงตัวเมีย

[40] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งให้อาหารเลี้ยงลิงตัวเมียในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
แล้วเสพเมถุนธรรมกับนางลิงนั้น ครั้นเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ต่อมาภิกษุหลายรูปจาริกไปตามเสนาสนะ เดินผ่าน
ไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น นางลิงเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลจึงตรงเข้าไปหา
แล้วส่ายสะเอว แกว่งหาง โก่งตะโพกขึ้น ทำท่าทางต่างๆ ต่อหน้าภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นคงจะเสพเมถุนธรรมกับนางลิงตัว
นี้แน่ แล้วแอบอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่งจนกระทั่งภิกษุเจ้าถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในกรุง
เวสาลี แล้วถืออาหารบิณฑบาตกลับมา

เชิงอรรถ :
1 ข้อ 1,2 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือสงฆ์
ข้อ 3,4 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล
ข้อ 5,6 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
ข้อ 7,8 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ 9,10 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา
ข้อ 10 คำว่า “เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย” หมายถึง เพื่อเชิดชู ค้ำจุน ประคับประคองพระวินัย 4 อย่าง คือ
สังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. 1/39/236-237)
2 เป็นผู้พ่ายแพ้ ถึงความพ่ายแพ้ คือ เป็นผู้เคลื่อน พลัดตก เหินห่างจากพระสัทธรรม (สารตฺถ.ฏีกา. 2/
55/103-104), ปาราชิกศัพท์นั้น หมายถึงตัวสิกขาบท หมายถึงตัวอาบัติ หมายถึงบุคคล ในที่นี้หมายถึง
บุคคล (วิ.อ. 1/55/277).
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :29 }