เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 1. สุกกวิสัฏฐิสิกขาบท พระบัญญัติ

ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง
กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะ
กลายเป็นอื่นไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระเสยยสกะโดยประการต่าง ๆ แล้ว ได้ตรัส
โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก ฯลฯ ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย
บำรุงง่าย ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น แล้วจึงรับ
สั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้

พระบัญญัติ

ภิกษุจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส

สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องพระเสยยสกะ จบ

เรื่องภิกษุหลายรูป

[235] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีต จำวัดหลับ ขาดสติ
สัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมาเพราะความฝัน พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส’
แต่พวกเรามีน้ำอสุจิออกมาเพราะความฝัน ในความฝันนั้นมีเจตนา พวกเราต้อง
อาบัติสังฆาทิเสสหรือหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั้นมีอยู่ แต่ไม่ควรกล่าวว่ามี”1
(ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา) ฯลฯ รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 เจตนาที่จะยินดีนั้นมีอยู่ แต่กล่าวไม่ได้ว่ามี (อัพโพหาริก) เพราะเกิดขึ้นนอกเหนือขอบเขต เจตนาใน
ความฝัน เป็นเจตนานอกเหนือขอบเขต (วิ.อ. 2/235/2-3)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :251 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 1. สุกกวิสัฏฐิสิกขาบท บทภาชนีย์

พระอนุบัญญัติ

[236] ภิกษุจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส ยกเว้นไว้แต่ฝัน

เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์

[237] คำว่า จงใจ ความว่า รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืนล่วงละเมิด
คำว่า น้ำอสุจิ อธิบายว่า น้ำอสุจิมี 10 ชนิด คือ (1) อสุจิสีเขียว (2) อสุจิ
สีเหลือง (3) อสุจิสีแดง (4) อสุจิสีขาว (5) อสุจิสีเหมือนเปรียง (6) อสุจิสี
เหมือนน้ำท่า (7) อสุจิสีเหมือนน้ำมัน (8) อสุจิสีเหมือนนมสด (9) อสุจิสี
เหมือนนมส้ม (10) อสุจิสีเหมือนเนยใส
คำว่า ทำให้เคลื่อน คือ กิริยาที่ทำให้เคลื่อนจากฐาน ตรัสเรียกว่า ทำให้เคลื่อน
คำว่า ยกเว้นไว้แต่ฝัน คือ ยกเว้นความฝัน
คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ชัก
เข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัตและเรียกเข้าหมู่ คณะก็ทำไม่ได้ ภิกษุรูปเดียวก็ทำไม่ได้
ฉะนั้นจึงตรัสว่า “เป็นสังฆาทิเสส”
คำว่า “เป็นสังฆาทิเสส” นี้ เป็นการขนานนาม เป็นคำเรียกหมวดอาบัตินั้น
นั่นเองโดยอ้อม1 เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า “เป็นสังฆาทิเสส”

บทภาชนีย์
อุบาย 4 ประการ

(1) ภิกษุทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนในรูปภายใน (2) ภิกษุทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนใน
รูปภายนอก (3) ภิกษุทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนในรูปภายในและภายนอก (4) ภิกษุทำน้ำ
อสุจิให้เคลื่อนเมื่อส่ายสะเอวในอากาศ

เชิงอรรถ :
1 สังฆาทิเสสนี้ เป็นชื่อเรียกกองอาบัติ แปลว่า “หมู่อาบัติที่ต้องการสงฆ์ทั้งในระยะเบื้องต้นและในระยะที่
เหลือ” หมายความว่า ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส จะออกจากอาบัตินั้นได้ต้องอาศัยสงฆ์ให้ปริวาส ให้มานัต
ชักกลับเข้าหาอาบัติเดิม และอัพภาน ในกรรมทั้งหมดนี้ขาดสงฆ์เสียแล้ว ก็ทำไม่สำเร็จ (วิ.อ. 2/237/6)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :252 }