เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 1. สุกกวิสัฏฐิสิกขาบท นิทานวัตถุ

พระเสยยสกะตอบว่า “ไม่ได้ใช้ยาอะไร แต่ผมฉันอาหารตามต้องการ จำวัด
สรงน้ำตามต้องการ เมื่อเกิดความกระสันถูกราคะรบกวนจิตขึ้นมา ก็ใช้มือพยายาม
ทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน”
“ท่านใช้มือที่เปิบข้าวที่เขาถวายด้วยศรัทธาพยายามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน
ออกมากระนั้นหรือ”
พระเสยยสกะรับว่า “ใช่ ขอรับ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระเสยยสกะจึงใช้มือพยายามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิ
พระเสยยสกะโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระเสยยสกะว่า “เธอใช้มือพยายามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน จริงหรือ” พระ
เสยยสกะทูลรับว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของ
สมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอจึงใช้มือพยายามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนเล่า เรา
แสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อความกำหนัด เพื่อ
ความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่เพื่อความถือมั่น มิใช่
หรือ เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อคลายความกำหนัด เธอก็ยังจะคิดเพื่อความกำหนัด เรา
แสดงธรรมเพื่อความพราก เธอก็ยังคิดเพื่อความประกอบไว้ เราแสดงธรรมเพื่อ
ความไม่ถือมั่น เธอก็ยังจะคิดเพื่อความถือมั่น โมฆบุรุษ เราแสดงธรรมโดยประการ
ต่าง ๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับความกระหาย เพื่อถอนความ
อาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อ
นิพพาน มิใช่หรือ โมฆบุรุษ เราบอกการละกาม การกำหนดรู้ความสำคัญในกาม
การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกในกาม การระงับความ
กลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :250 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [2. สังฆาทิเสสกัณฑ์] 1. สุกกวิสัฏฐิสิกขาบท พระบัญญัติ

ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง
กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะ
กลายเป็นอื่นไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระเสยยสกะโดยประการต่าง ๆ แล้ว ได้ตรัส
โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก ฯลฯ ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย
บำรุงง่าย ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น แล้วจึงรับ
สั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้

พระบัญญัติ

ภิกษุจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส

สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องพระเสยยสกะ จบ

เรื่องภิกษุหลายรูป

[235] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีต จำวัดหลับ ขาดสติ
สัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมาเพราะความฝัน พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส’
แต่พวกเรามีน้ำอสุจิออกมาเพราะความฝัน ในความฝันนั้นมีเจตนา พวกเราต้อง
อาบัติสังฆาทิเสสหรือหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั้นมีอยู่ แต่ไม่ควรกล่าวว่ามี”1
(ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา) ฯลฯ รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 เจตนาที่จะยินดีนั้นมีอยู่ แต่กล่าวไม่ได้ว่ามี (อัพโพหาริก) เพราะเกิดขึ้นนอกเหนือขอบเขต เจตนาใน
ความฝัน เป็นเจตนานอกเหนือขอบเขต (วิ.อ. 2/235/2-3)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :251 }