เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 สุทินนภาณวาร

ทวยเทพกระจายข่าว

ทวยเทพชั้นภุมมะ กระจายข่าวว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ไม่เคยมีเสนียดไม่
เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตร ก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว
ทวยเทพชั้นจาตุมมหาราชสดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจาย
ข่าวต่อไป ฯลฯ ทวยเทพชั้นดาวดึงษ์ ฯลฯ ทวยเทพชั้นยามา ฯลฯ ทวยเทพชั้นดุสิต
ฯลฯ ทวยเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ ทวยเทพที่
นับเนื่องในหมู่พรหมสดับเสียงแล้วก็กระจายข่าวกันต่อไปว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์
ไม่เคยมีเสนียด ไม่เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วย
ประการฉะนี้
ต่อมา อดีตภรรยาของพระสุทินครรภ์แก่จึงคลอดบุตร พวกเพื่อนของ
พระสุทินตั้งชื่อเด็กคนนั้นว่า เด็กชายพีชกะ1 เรียกอดีตภรรยาของพระสุทินว่า
พีชกมารดา เรียกพระสุทินว่าพีชกบิดา ต่อมาทั้งมารดาทั้งบุตรได้ออกจากเรือนไป
บวชเป็นอนาคาริก ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระสุทินเกิดความเดือดร้อนใจ

[37] ต่อมา พระสุทินเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า “ไม่ใช่ลาภของเรา
หนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ ถึงจะเข้ามาบวชใน
พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต” เพราะความกลุ้มใจ เดือดร้อนใจนั้น ท่านจึงซูบผอม
หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์ เสียใจ
เดือดร้อนใจ เศร้าซึม

เชิงอรรถ :
1 พีชกะ หมายถึง ผู้สืบเชื้อสาย ที่ตั้งชื่อให้ว่า “พีชกะ” เพราะย่าได้เคยกล่าวว่า “พีชกํปิ เทหิ จงให้ผู้สืบ
เชื้อสาย” (วิ.อ. 1/36/224).
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :25 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 1 สุทินนภาณวาร

[38] ฝ่ายภิกษุผู้เป็นเพื่อนของพระสุทิน กล่าวกับท่านสุทินว่า “ท่านสุทิน
เมื่อก่อนท่านมีผิวพรรณเปล่งปลั่งกระชุ่มกระชวย หน้าตาสดใส มีน้ำมีนวล แต่บัดนี้
ดูท่านซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์
เสียใจ เดือดร้อนใจ เศร้าซึม ท่านไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์กระมัง”
พระสุทินตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ความจริงไม่ใช่กระผมจะไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ กระผมมีบาปกรรมที่ทำไว้ คือ ได้เสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา
กระผมจึงเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า มิใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ
เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีหนอ ถึงจะเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
ตลอดชีวิต”
ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า “จริงทีเดียวท่านสุทิน การที่ท่านเข้ามาบวชในพระ
ธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วแต่ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต ก็พอที่จะทำให้กลุ้มใจ เดือดร้อนใจได้ พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงธรรมไว้โดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อความกำหนัด
เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่เพื่อความถือมั่น
มิใช่หรือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อคลายความกำหนัด ท่านก็ยังจะ
คิดเพื่อความกำหนัด ทรงแสดงธรรมเพื่อความพราก ท่านก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบ
ไว้ ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น ท่านก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับ
ความกระหาย เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลาย
ความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกการละ
กาม การกำหนดรู้ความสำคัญในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอน
ความตรึกในกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ
การกระทำของท่านนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใส
อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”