เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [1. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 สิกขาบทวิภังค์

ว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ แต่กรณีนี้ไม่ควรกล่าว
ว่ามี”1
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้ยิ่ง กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ ให้น้อมเข้ามาในตนว่า “ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้”
ครั้นสมัยต่อจากนั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งโจทก็ตามไม่โจทก็ตาม เธอผู้ต้องอาบัติแล้ว
หวังความบริสุทธิ์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้
กล่าวว่ารู้ ข้าพเจ้าไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ข้าพเจ้ากล่าวคำไร้ประโยชน์
เป็นคำเท็จ” เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ จบ

สิกขาบทวิภังค์

[198] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ไม่รู้ยิ่ง คือ ภิกษุไม่รู้ไม่เห็นกุศลธรรมในตนซึ่งไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง หา
ไม่ได้ กล่าวว่า เรามีกุศลธรรม
ที่ชื่อว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ
มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ภาวะที่จิตปลอดจากกิเลส ความยินดี
ในเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
1 ข้อความนี้ แปลมาจากบาลีว่า “อพฺโพหาริกํ” คือกล่าวไม่ได้ว่ามี มีเหมือนไม่มี มีแต่ไม่ปรากฏ จึงไม่
ได้โวหารว่ามี นำมากล่าวอ้างไม่ได้ ถือเป็นกรณีพิเศษที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้ (ดู วิ.อ. 1/196/528)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :183 }