เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่ทรงผ่อนคลายที่จะกำหนดจิตของสาวกด้วย
พระทัยแล้วทรงสั่งสอน สารีบุตร เรื่องเคยเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าเวสสภู ทรง
กำหนดจิตภิกษุสงฆ์แล้วทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ 1,000 รูป ในราวป่าน่าสะพึงกลัว
แห่งหนึ่งว่า “เธอทั้งหลายจงพิจารณาเช่นนี้ อย่าพิจารณาอย่างนั้น จงตั้งใจอย่างนี้
อย่าตั้งใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด” จิตของภิกษุ 1,000 รูป ที่พระ
พุทธเจ้าเวสสภูทรงสั่งสอน หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีความถือมั่น สารีบุตร
เพราะราวป่าน่าสะพึงกลัว น่าสยดสยอง จึงมีเรื่องดังนี้ คือ ภิกษุผู้ไม่ปราศจาก
ราคะ เข้าไปราวป่า ส่วนมากเกิดความกลัวขนลุกขนพอง
สารีบุตร นี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี พระ
พุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภูดำรงอยู่ไม่นาน”
[20] “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ
พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้า
กัสสปะ ไม่ทรงผ่อนคลายที่จะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละของพระพุทธเจ้า 3
พระองค์จึงมีมาก ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก มีการแสดงปาติโมกข์ เมื่อหมด
พระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ
วรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นาน
เหมือนดอกไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดานเอาด้ายร้อยไว้ ย่อมไม่ถูกลมพัด
กระจัดกระจายไป เพราะเหตุไร เพราะเอาด้ายร้อยไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อหมดพระพุทธเจ้า
และสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติวรรณะ ได้เข้า
มาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานฉันนั้น
สารีบุตร นี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระ
พุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ ดำรงอยู่นาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :12 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ทรงปรารภเหตุที่จะบัญญัติสิกขาบท

[21] ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นห่มผ้าเฉวียงบ่าประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ที่พระผู้มีพระภาคจะ
ทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่พระสาวกอันจะเป็นเหตุให้
พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้ยืนนาน”
“จงรอไปก่อนเถิดสารีบุตร ตถาคตรู้เวลาในเรื่องที่จะบัญญัติสิกขาบทนั้น
ศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวก ไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ตลอดเวลาที่ยัง
ไม่เกิดอาสวัฏฐานิยธรรม1 บางอย่างในสงฆ์ เมื่อเกิดอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างใน
สงฆ์ ตถาคตจึงจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัด
ธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่
เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีภิกษุบวชนาน เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีภิกษุบวชนาน และ
มีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยัง
ไม่เป็นหมู่ใหญ่เพราะแพร่หลาย เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะแพร่หลาย และมี
อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยัง
ไม่เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีลาภสักการะมาก เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีลาภสักการะ
มาก และมีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
1 ตตฺถ อาสวา ติฏฺฐนฺติ เอเตสูติ อาสเวหิ ฐาตพฺพา น โวกฺกมิตพฺพาติ วา อาสวฏฐานียา แปล
สรุปความว่า ธรรมเป็นที่ตั้งอาสวะ ความชั่วต่างๆ เช่น การกล่าวให้ร้ายคนอื่น ความเดือดร้อน และการ
จองจำ (วิ.อ. 1/21/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :13 }