เมนู

ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ 01 วินัยปิฎกที่ 01 มหาวิภังค์ ภาค 1

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค 1
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวรัญชกัณฑ์
เรื่องเวรัญชพราหมณ์

[1] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็น
ที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป
เวรัญชพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า ท่านพระสมณโคดม เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมือง
เวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น
มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค1

เชิงอรรถ :
1 พระพุทธคุณ ทั้ง 9 บทนี้ แต่ละบทมีอรรถอเนกประการ คือ
1. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะห่างไกลจากกิเลส, เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส, เพราะหักซี่กำแห่ง
สังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิด, เพราะเป็นผู้ควรรับไทยธรรม, เพราะไม่ทำบาปในที่ลับ
2. ชื่อว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง
3. ชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะมีวิชชา 3 และวิชชา 8 ดังนี้ วิชชา 3 คือ :-
(1) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (2) จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติ (ตาย) และอุบัติ (เกิด)
ของสัตว์ (3) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิชชา 8 คือ (1) วิปัสสนาญาณ ญาณที่เป็นวิปัสสนา
(2) มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ (3) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ (4) ทิพพโสต หูทิพย์ (5) เจโตปริยญาณ
รู้จักกำหนดจิตผู้อื่นได้ (6) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (7) ทิพพจักขุ ตาทิพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :1 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้
อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ
งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตำหนิพระผู้มีพระภาค
[2] 1ต่อมา เวรัญชพราหมณ์เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันและกัน

เชิงอรรถ :
(= จุตูปปาตญาณ) (8) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ จรณะ 15 คือ (1) สีลสัมปทา ความถึง
พร้อมด้วยศีล (2) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ (3) โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภค (4) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น (5) มีศรัทธา (6) มีหิริ (7) มี
โอตตัปปะ (8) เป็นพหูสูต (9) วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร (10) มีสติมั่นคง (11) มีปัญญา (12)ปฐมฌาน
(13) ทุติยฌาน (14) ตติยฌาน (15) จตุตถฌาน
4. ชื่อว่า เสด็จไปดี เพราะมีการเสด็จไปงาม เพราะเสด็จไปสู่ฐานะที่ดี เพราะเสด็จไปโดยชอบ และ
เพราะตรัสไว้โดยชอบ
5. ชื่อว่า รู้แจ้งโลก เพราะทรงรู้แจ้งโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึงความดับโลก (ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค) และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง 3 คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก
6. ชื่อว่า เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะทรงฝึกฝนคนที่ควรฝึกฝน ทั้งเทวดา มนุษย์
อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ด้วยอุบายต่างๆ
7. ชื่อว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทรงสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ด้วยประโยชน์
ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ตามสมควรแก่ประโยชน์ที่เทวดาและ
มนุษย์จะพึงได้รับ และเพราะทรงช่วยพาหมู่สัตว์ให้พ้นความกันดารคือความเกิด ดุจสัตถวาหะคือหัวหน้า
กองเกวียนพาบริวารข้ามทางกันดาร
8. ชื่อว่า เป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
9. ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (1) ทรงมีโชค (2) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (3) ทรงประกอบ
ด้วยภคธรรม 6 ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จ
ประโยชน์ตามต้องการ และความเพียร) (4) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (5) ทรงเสพอริยธรรม (6) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (7) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (8) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (9) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย
4 เป็นต้น (ตามนัย วิ.อ. 1/1/103-118, สารตฺถ.ฏีกา. 1/270-400)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น 10 ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ 6 เป็น 2 ประการ คือ (1) เป็นผู้ยอดเยี่ยม
(2) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. 1/265, วิ.อ 1/1/112-113)
1 องฺ.อฏฺฐก. 23/11/143-149

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :2 }