เมนู

นวมวรรค


กาลากาลมรณปัญหา ที่ 1


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสถามปัญหาสืบไปว่า ภนฺเต
นาคเสน
ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา สพฺเพ มนุสฺสา อันว่ามนุษย์ทั้งหลายนี้ตายเป็นกาลมรณะ
สิ้น หรือว่าตายเป็นอกาลมรณะบ้าง
พระนาคเสนเถระจึงวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
มนุษย์ทั้งหลายตายเป็นกาลมรณะก็มี ที่ตายเป็นอกาลมรณะก็มี
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา ที่ตายเป็นกาลมรณะนั้นอย่างไร ที่ตายเป็นอกาลมรณะนั้นอย่างไร
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า ผลิโนปิ ผลํ ผลมะม่วงหรือผลไม้เหล่าอื่น ย่อมหล่นไป
แต่ในกาลเมื่อยังเป็นช่อ บางทีช่อตั้งจะเป็นผลก็หล่นร่วงไป บางทีหล่นไปในกาลเมื่อเป็นหัวแมลงวัน
บางทีห่ามแล้วจึงหล่นไป บางทีจวนสุกจึงหล่นไป บพิตรเห็นบ้างหรือไม่ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระมิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการรับคำพระนาคเสนว่า อาม
ภนฺเต
พระเจ้าข้าพระผู้เป็นเจ้า โยมเคยเห็นอยู่เป็นธรรมดา
พระนาคเสนผู้ปรีชามีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
อันว่ามะม่วงและผลไม้ที่สุกแล้วหล่นนั้นแลเรียกว่าหล่นในกาลควรจะหล่น เสสา อันว่าผลมะม่วง
และผลไม้นอกนี้คือที่ล่วงไปตั้งแต่เป็นช่อและเป็นผลโตเท่าหัวแมลงวัน นกจิกและลมพัดและ
เป็นด้วงบ่อนหนอนไซร่วงไปนั้นเรียกว่าหล่นเป็นอกาล คือหล่นในกาลอันมิควรจะหล่น
ความเปรียบนี้ ยถา มีครุวนาอุปมาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้
ประเสริฐ อันว่ามนุษย์ทั้งหลายเกิดมาครั้นเฒ่าแก่ชรากระทำกาลกิริยาตายนั้น ชื่อว่ากาลมรณะ
ควรตายอยู่แล้ว นะบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจผลมะม่วงสุกแล้วหล่นร่วงลงสู่พื้นพสุธา อว-
เสสา
มนุษย์นอกกว่านั้น เกจิ บางพวกตายเป็นกรรมปฏิพาฬห์ กรรมหลังอันหนักมาชักนำไป
เกจิ บางพวกตายเป็นคติปฏิพาพฬห์คติอันหนักชักนำไป บางพวกก็ตายเป็นกิริยาปฏิพาฬห์ กิริยา
อันหนักชักนำไป เต มนุสฺสา อันว่ามนุษย์ทั้งหลายนั้นชื่อว่าตายเป็นอกายมรณะ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา อันว่าคนทั้งหลายตายด้วยกรรมปฏิพาฬห์กรรมพาไปก็ดี ตายเป็น
คติปฏิพาฬห์คติชักพาไปก็ดี ตายเป็นกิริยาปฏิพาฬห์กิริยาชักพาไปก็ดี ตายด้วยชราพาไปก็ดี

โยมเห็นว่ามนุษย์ทั้งหลายนี้ตายเป็นกาลมรณะควรด้วยกาลสิ้น อย่าว่าแต่อย่างนั้นเลย สัตว์ที่
ตายไปในครรภ์มารดานั้นก็ได้ชื่อว่าตายเป็นกาลมรณะ ที่ตายไปในเวลาออกจากครรภ์มารดาแล้ว
ก็ชื่อว่าตายเป็นกายมรณะ ทารกที่ได้ห้าปีตายก็ดี หาปีตายก็ดี เจ็ดปีตายก็ดี แปดปีตาย เก้าปี
ตาย สิบปีตาย สิบเอ็ดปีตาย สิบสองปีตายก็ดี กาเลเยว มรนฺติ ก็ได้ชื่อว่าตายให้กาลควรจะตาย
ตามอย่างทารกทั้งหลายอันตายมา แม้ถึงสัตว์ที่ได้ร้อยปีตายก็ชื่อว่าตายเป็นกาลมรณะ ตกว่า
สัตว์ทั้งหลายที่ตายนั้นเป็นกาลมรณะหมดสิ้น ที่ว่าสัตว์จะเป็นอกาลมรณะใช่กาลที่จะตายหรือ
ไม่ควรตายนั้นหามิได้
พระนาคเสนมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
สัตว์และมนุษย์ทั้งหลายที่ไม่สิ้นอายุยังไม่แก่ไม่เฒ่านั้นแลมาตายเสียได้ชื่อว่าตายเป็นอกาลมรณะ
มี 7 จำพวก อันว่า ตายเป็นอกาลมรณะ 7 จำพวกนั้นเป็นประการใด มหาราช ขอถวาย
พระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลผู้ใดยังไม่สิ้นอายุอดข้าวปลาอาหารตาย จัดได้ชื่อว่าตาย
เป็นอกาลมรณะ ประการ 1 มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลที่ยังไม่
สิ้นอายุ แต่ว่าอดน้ำตายนั้น ก็จัดได้ชื่อว่าตายเป็นอกาลมรณะ ตายในอันใช่กาลประการ 1 อหินา
ทฏฺโฐ มหาราช
ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผ้ประเสริฐ บุคคลงูขบพิษกล้าหมอรักษา
ไม่ได้ ยังไม่สิ้นอายุ ตายด้วยพิษงูนั้น ก็ชื่อว่าตายเป็นอกาลมรณะประการ 1 วิสมาลิโก มหาราช
ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลยังไม่สิ้นอายุกินยาพิษ ยาพิษนั้นกัดลำไส้ หายา
จะแก้มิได้ ตายด้วยยาพิษนี้ ก็ได้ชื่อว่าตายเป็นอกาลมรณะประการ 1 อคฺคิคโต มหาราช
ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลอันเพลิงไหม้ตายด้วยเพลิง ก็ชื่อว่าอกาลมรณะ
ประการ 1 อุทกคโต และบุคคลยังไม่สิ้นอายุตกน้ำตาย นี้จัดเป็นอกาลมรณะประการ 1 สตฺ-
ติยา ปหโต
บุคคลยังไม่สิ้นอายุ ตายด้วยอาวุธศัสตรานั้น ก็ชื่อว่าเป็นอกาลมรณะประการ 1
สิริเป็น 7 จำพวกเท่านี้ ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร สัตว์ที่ตายเป็นกาลมรณะนั้นมี 8
ประการ คือตายด้วยโรคเป็นวาตสมุฏฐานเกิดเพื่อลมประการ 1 ตายด้วยโรคเป็นปิตตสมุฏ-
ฐานเกิดเพื่อดีประการ 1 ตายด้วยโรคเป็นเสมหสมุฏฐานเกิดเพื่อเสมหะประการ 1 ตายด้วยไข้
สันนิบาตประการ 1 ตายด้วยโรคเป็นอุตุปริฌาน น้อมมาตามฤดูเกิดมาตามฤดูคิมหันต์เหมันต์
วสันต์นั้นประการ 1 ตายด้วยวิสมปริหาร อิริยาบถนั่งนอนยืนเดิน เกินประมาณโรคบังเกิดนั้น
ประการ 1 ตายด้วยโรคเป็นโอปักกมิกาให้ลงไป รักษาเท่าไรก็ไม่หยุดประการ 1 ตายด้วยโรค
อันเกิดแต่กรรมวิบากนั้นประการ 1 สิริเป็น 8 ประการด้วยกันชื่อว่ากาลมรณะ
ประการหนึ่ง กาลมรณะมี 2 สถาน ที่เป็นสามายิกากาลกิริยานั้นสถาน 1 เป็น
อสามายิกาลกิริยานั้นสถาน 1 ที่ว่าตายด้วยโรคอันเกิดแต่กรรมวิบากนั้น ชื่อว่าสามายิกา

กาลกิริยา แปลว่าตายควรด้วยกาลอันเป็นกรรมของตนกระทำไว้แต่ชาติก่อน ตายด้วยเหตุนอก
จากนี้นับแต่ตายด้วยวาตสมุฏฐานมาจนถึงโอปักกมิกาพอได้ 7 ประการ ชื่อว่าอสามายิกากาล-
กิริยา แปลว่าตายไม่ควรแก่กาลแก่สมัย
และมนุษย์ตายด้วยเหตุ 7 ประการ คืออดข้าวประการ 1 อดน้ำประการ 1 งูขบ
ประการ 1 กินยาพิษประการ 1 เพลิงไหม้ประการ 1 ตกน้ำประการ 1 ถูกอาวุธศัสตรา
ประการ 1 สิริเป็น 7 ประการด้วยกันนี้ มนุษย์ที่ตายไปดังนี้ จัดว่าตายเป็นอกาลมรณะ
ส่วนบุคคลตายด้วยบุรพกรรมหนหนังนั้น คือแต่ก่อนตนได้กระทำสัตว์ให้อดตาย ครั้น
ผู้นั้นสิ้นชีวิตแล้ว ก็ไปทนทุกข์อดข้าวปลาอาหารตายอยู่ในอบายหลายพันปี กรรมนั้นค่อยน้อย
เข้า ขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์เศษกรรมมาตามทัน แต่ยังเป็นทารกและกลางคนเมื่อแก่นั้นก็ดี ให้
อดข้าวตาย อย่างนี้ ชื่อว่าสามายิกมรณะ
และที่ว่าตายด้วยอดน้ำก็ดี ตายด้วยงูก็ดี ตายด้วยยาพิษก็ดี ตกน้ำตายก็ดี เพลิงไหม้
ตายก็ดี เขาฆ่าฟันตายก็ดี อีก 6 ประการนี้แต่ชาติก่อนได้กระทำกรรม คือให้สัตว์อดน้ำตาย
และเอางูร้ายให้ขบเขา วางยาพิษให้เขากินตาย และคลอกเผาสัตว์ให้ตาย ทำสัตว์ให้ตกน้ำตาย
ฆ่าสัตว์ทั้งหลายด้วยอาวุธ ครั้นตัวจุติตายก็ไปทนทุกข์อยู่ในอบายตามกรรมที่กระทำไว้ฉันใด ก็
ได้ฉันนั้น ทนทุกข์อยู่หลายพันปี ครั้นกรรมนั้นเบาบางเข้ามาเกิดเป็นมนุษย์เล่า เศษกรรมนั้น
มาทันเข้าเมื่อเป็นกุมารก็ดี เมื่อกลางอายุก็ดี เมื่อแก่ก็ดี อย่างนี้ชื่อว่าสามายิกมรณะ ตายด้วย
กรรมหลังที่กระทำไว้ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา ยํ วเทสิ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่าตายเป็นอกาลมรณะนั้น มีเหตุประกอบใด
อิงฺฆ ดังโยมตักเตือน นิมนต์อุปมาชี้เหตุให้โยมแจ้งก่อน
พระนาคเสนจึงถวายพระพรอุปมาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
ธรรมดาว่ากองเพลิงไหม้ไปจนสิ้นเชื้อหญ้าใบไม้และไม้แห้ง สิ้นอุปัทวะหาเชื้อที่จะไหม้มิได้ก็ดับ
ไปเอง ชื่อว่าสามายิกนิพพุตาดับเองกระนั้นหรือ บพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทรธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า เอวํ ภนฺเต ดังนั้นแหละ
พระผู้เป็นเจ้า เพลิงนั้นดับเอง ชื่อว่าสามายิกนิพพุตา
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า ความนี้เปรียบฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตร
พระราชสมภาร บุคคลมีอายุยืนได้มากประมาณพันปีเป็นอันมาก หาโรคหาภัยหาอุปัทวะสิ่งไร

มิได้ ตายไปเองชื่อว่าสามายิกมรณะ อุปไมยเหมือนกองเพลิงดับเองนั้น มหาราช ขอถวาย
พระพรบพิตรพระราชสมภาร กองเพลิงอันหนึ่งไหม้ซึ่งไม้แห้งและเมื่อไม้แห้งนั้นยังไม่สิ้น
ยังไหม้อยู่ ยังมีมหาเมฆคือฝนห่าใหญ่บันดาลตกลงมา นิพฺพาเปยฺย ให้เพลิงดับไป นี่แหละดัง
อาตมาจะขอถาม มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร กองเพลิงนั้นจะเรียกว่าเป็น
สามายิกนิพพุตา ดับเองกระนั้นหรือ นะบพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า น หิ ภนฺเต ข้าแต่พระ
ผู้เป็นเจ้าเพลิงนั้นจะเรียกว่าดับเอง เป็นสามายิกนิพพุตาหามิได้
พระนาคเสนมีเถรวาจาปุจฉาถามต่อไปว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราช-
สมภาร เหตุประการใดเล่า
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสน
ผู้ปรีชา กองเพลิงนั้นยังกำดัดจะไหม้หญ้าและใบไม้อยู่มิได้สิ้นเชื้อ ไม่ดับเอง ไปดับด้วยน้ำฝน
อย่างนี้ ชื่อว่าอสามายิกนิพพุตา
พระนาคเสนจึงกล่าวอุปไมยต่ออุปมาว่า อาตมาเปรียบประการนี้ ยถา มีอุปมาฉันใด
มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลที่ตายเป็นอกาลมรณะนั้นคือยังไม่ถึง
กำหนดสิ้นอาจุที่จะตาย และมาตายด้วยโรคอันจรมาอย่างใดอย่างหนึ่งอันบังเกิดขึ้นก็ดี และ
ตายด้วยอดข้าวอดน้ำ งูขบและกินยาพิษเป็นต้นก็ดี ก็ได้ชื่อว่าตายเป็นอกาลมรณะ เอวเมวโข
มีอุปไมยเหมือนเพลิงกองใหญ่ยังกำดัดจะไหม้ ฝนห่าใหญ่ตกทับดับไปนั้น มหาราช ขอถวาย
พระพรบิพิตรพระราชสมภาร พลาหกอันตั้งขึ้น คคเณ บนคัคณากาศเกิดเป็นห่าฝน ตกลงมา
หาภัยอันตรายมิได้ ก็ไหลไปท่วมที่ลุ่มดอนกระนั้นหรือ บพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า เอวํ ภนฺเต ข้าแต่พระผู้
เป็นเจ้า เมื่อเมฆตั้งขึ้นหาภัยอุปัทวะที่จะเบียดเบียนมิได้แล้ว ก็บังเกิดห่าฝนตกลงมา
พระนาคเสนจึงอุปมาอุปไมยว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร คน
ทั้งหลายแก่หง่อมหาโรคาพยาธิจะบีฑามิได้ และภัยอันตรายไม่มี อยู่ดี ๆ สิ้นอายุตายที่ชื่อว่า
สามายิกมรณะนั้น ดุจเมฆตั้งขึ้นหาสิ่งกระทำอันตรายมิได้ ก็ตกลงเป็นห่าฝนเองนั้น นั้น
ประการหนึ่ง ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจเมฆตั้งขึ้นเบื้องบนจะเกิดฝน ลมพัด
กระจัดกระจายให้แล้งไป มิได้เป็นฝนตกลงนั้น ดังอาตมาจะถาม เมฆตกลงหรือประการใด
บพิตรพระราชสมภาร

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า หามิได้ เพราะเมฆนั้นลม
พัดให้กระจายไปเสียสิ้น
พระนาคเสนมีเถรวาจาถามว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เมฆ
ฝนตั้งขึ้นเดิมนั้น ลมไม่กระทำอันตรายสิฝนตกลงมาเล่า เมฆฝนตั้งขึ้นลมกระทำอันตรายไปไม่
ตกลงมา ไฉนจึงไม่เหมือนกันนะ บพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา เมฆฝนที่ตั้งขึ้นนั้น ตกด้วยไม่มีอันตราย ไม่ตกด้วยลมกระทำอันตราย
พระนาคเสนจึงอุปมาอุปไมยว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
ความประการนี้มีอุปมาฉันใดก็ดี คนทั้งหลายที่ตายไปด้วยโรคอันตรายอันใดอันหนึ่ง ในเวลาที่
ยังไม่ถึงซึ่งสิ้นอายุขัย ชื่อว่าตายเป็นอกาลมรณะ เปรียบด้วยเมฆฝนตั้งขึ้น ลมกระทำอันตราย
ฉะนั้น มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร อสรพิษกล้าคาบคั้นขบเอาบุรุษ
ผู้หนึ่ง หาหมอไม่ทัน พิษนั้นกล้าหาญ ไปหายาที่จะฆ่าพิษมิได้ บุรุษนั้นกระทำกาลกิริยาตาย
พิษนั้นหาอันตรายมิได้ ยถา มีคุรุวนาอุปมาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราช-
สมภาร โกจิ จีรํ ชีวิตฺวา บุคคลผู้ใดที่มีชีวิตอยู่นานแล้ว แก่ชราไปเป็นอายุขัยสิ้นอายุตายไป หาโรค
สิ่งไรและภัยอันตรายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันจะมาบีฑายายีมิได้ ชื่อว่าสามายิกมรณะตายเอง
เปรียบดุจพิษอันหายาจะระงับมิได้ฉันนั้น.
ยถา ปน มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบด้วยอสรพิษอัน
ร้ายขบบุรุษผู้หนึ่งเข้า แต่ว่าหาหมอทันวางยาฆ่าพิษนั้นให้สูญหายไป จะว่าพิษนั้นเป็นสามายิกะ
หาอุปัทวะอันตรายมิได้หรือ บพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้
เป็นเจ้า จะว่าพิษนั้นเป็นสมายิกะหามิได้ นะพระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนเถระผู้ปรีชาญาณจึงซักถามว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราช-
สมภาร เป็นเหตุประการใด อสรพิษร้ายเหมือนกันตัวหนึ่งพิษกล้าขบคนตาย ตัวหนึ่งพิษกล้า
ขบคนนั้นแล้วพิษหายไป เป็นเหตุไฉนนะบพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า
พิษนั้นสูญไปด้วยฤทธิ์ยามากำจัดเสีย พิษนั้นจึงมิได้เป็นสามายิกะ
พระนาคเสนจึงอุปไมยต่ออุปมาว่าฉะนี้ มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บุคคล
ทั้งหลายตายด้วยโรคอันจรมาเป็นต้นว่าวาตสมุฏฐานนั้น ยังไม่สิ้นอายุขัย ก็ได้ชื่อว่าเป็นอกาล-

มรณะเหมือนพิษอันฤทธิ์ยาหมอห้ามให้สูญหาย หากระทำให้ตายได้ไม่ ใช่แต่เท่านี้ อันว่า
บุคคลตายเป็นกาลมรณะนั้นจะอุปมาอีกก่อน มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
ดุจหนึ่งนายขมังธนูยิงลูกธนูไป ถ้าลูกธนูไม่ขัดข้องลอยล่วงไปจนสิ้นกำลังแล้วตกลงมา
ตามธรรมดาดังนี้มีอุปมาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลที่มีชีวิต
อยู่จนแก่ชราสิ้นอายุขัยตายตามธรรมดานั้น ก็เหมือนกันกับลูกธนูอันคนยิงไปไม่กระทบกระทั่ง
ตลอดไปโดยธรรมดานั้น ประการหนึ่ง มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้
ประเสริฐเปรียบดุจนายขมังธนู หายิงไปให้ถูกโดยปฐมคติธรรมดาดังคราวก่อนไม่ ยิงลูกศรไป
จะให้ตกลง มีผู้อื่นเข้ามาหยิบเอาลูกธนูไปเสีย ดังอาตมาจะถาม ตกว่าลูกธนูนั้นจะไปตาม
ธรรมดาเดิมหรือประการใด นะมหาบพิตรพระราชสมภาร
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า ลูกธนูนั้นจะไปตามธรรมดาหามิได้ เพราะมีผู้มาหยิบเอาไปเสีย
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร อันว่า
บุคคลกระทำกิริยาตายเป็นอกาลมรณะ ก็เหมือนกันกับลูกธนูที่ยิงไปไม่ถึงที่ มีใครหยิบเอา
ไปเสียนั้น ประการหนึ่ง มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ดุจบุคคลเป็นช่างดี
ภาชนะทองแดง เสียงนั้นก้องไปจนสุดเสียงนั้น ยถา มีครุวนาฉันใด มหาราช ขอถวายพระ
พรบพิตรพระราชสมภาร ฝูงชนที่มีชันษาอายุยืนนานอยู่ไปจนเฒ่าหาโรคจะบีฑายายีมิได้
สิ้นอายุขัยตายเองนั้น ก็เหมือนกับเสียงภาชนะทองแดงดังไปจนสุดเสียง และฝูงชนตายด้วยสิ้น
อายุนั้น ชื่อว่าสามายิกมรณะ มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจบุรุษ
ผู้หนึ่งตีซึ่งภาชนะทองแดงแล้วจับต้องยึดภาชนะทองแดงนั้นไว้ ห้ามเสียมิให้ดังไป เสียง
ภาชนะนั้นจะดังก้องไปเหมือนภาชนะอันบุคคลไม่ลูบต้องจับกุมไว้หรือประการใด
พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงตรัสว่า เสียงภาชนะนั้นจะดังก้องหามิได้นะ ผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนจึงถามว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เหตุประการใด
จึงไม่มีเสียงดังก้องเล่า
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภาชนะทองแดงนั้นคนจับ
ไว้จึงไม่ดังโดยธรรมดา
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ความ
ประการนี้ ยถา มีอุปมาฉันใดอันว่ามนุษย์ทั้งหลายที่ตายเป็นอกาลมรณะนั้นมิทันแก่ชราสิ้นอายุขัย
เพราะโรคอันใดอันหนึ่งมีวาตสมุฏฐานเป็นอาทิเกิดขึ้นในกายก็ตายไป อุปไมยดุจภาชนะ
ทองแดงอันบุคคลตีดังไป แล้วยึดไว้มิให้ดังต่อไปนั้น อิทํ มหาราช การณํ ขอถวายพระพรบพิตร

พระราชสมภาร จงทรงพระสวนาการฟังเหตุอุปมาแห่งมนุษย์ทั้งหลายอันตายเป็นอกาลมรณะ
อีกก่อน มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจพืชข้าวเปลือกบุคคลหว่านลง
ในนา ฟ้าฝนชุกเชยชุ่มชื่น ก็จำเริญรื่นมีดอกออกรวงใหญ่ถึงซึ่งภาวะเป็นสัสสสมัย คือ จะเป็น
ข้าวปลูกต่อกันไป ยถา มีครุวนาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
คนทั้งหลายเกิดมา จีรํ ชีวิตฺวา มีอายุยืนนานประมาณพันปีเป็นอันมาก หาโรคาพยาธิบีฑา
มิได้อยู่จนสิ้นอายุขับ ก็มีอุปไมยเหมือนธัญพืชอันจำเริญนั้น นี่แลตายต่อแก่เฒ่าชราสิ้นอายุนั้น
ชื่อว่าสามายิกมรณะ
ประการหนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ธรรมดาว่าธัญพืช
ในนา ฟ้าฝนแล้งแห้งไป ไม่มีอุทกังที่จะขังเลี้ยงต้นข้าวไว้ ข้าวนั้นแห้งตายแดง ธัญพืชนั้นไม่เป็น
เม็ดเป็นรวง ไม่ถึงซึ่งภาวะเป็นสัสสสมัย จะเป็นข้าวปลูกตกกล้าต่อไปได้หรือนะ บพิตรพระ
ราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า น หิ ภนฺเต จะได้ที่ไหน
พระผู้เป็นเจ้า กับข้าวเสียนั้น
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เป็นเหตุ
ประการใด เมื่อพืชหว่านลงในนาด้วยกันดังนี้จึงไม่เหมือนกัน
พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธีบดีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ
นาคเสนผู้ปรีชา อันว่าธัญพืชนั้นเป็นหาอุทกังที่จะเลี้ยงต้นมิได้ จึงไม่ถึงสัสสสมัย นะพระ
ผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนจึงอุปไมยต่ออุปมาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้
ประเสริฐ ฝูงชนทั้งหลายเกิดมายังมิทันแก่ ยังมิทันชรา ยังมิทันจะสิ้นอายุขัย บังเกิดโรคาไข้เจ็บ
ด้วยโรคอันใดอันหนึ่ง มีวาตสมุฏฐานเป็นอาทินั้น อุปไมยเหมือนธัญพืชหาอุทกังมิได้ ฉิบหาย
แห้งไปมิได้ถึงซึ่งภาวะเป็นสัสสสมัยนั้นแล บุคคลตายเสียไม่ทันแก่ชราสิ้นอายุขัยนั้นเรียกว่า
ตายเป็นอกาลมรณะ ขอถวายพระพร อิมินา มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
จงทรงพระสวนาการซึ่งเหตุแห่งอุปมา อกาลมรณะอีกสถานหนึ่ง สุตปุพฺพํ ปน บพิตรพระ
ราชสมภาร ได้เคยสวนาการฟังเขาว่ามาแต่ก่อนบ้างหรือประการใด สมฺปนฺเน สสฺเส ในเมื่อ
ต้นข้าวอันขึ้นมายังอ่อน ๆ มีหนอนเกิดขึ้นกินไส้ ยังต้นข้าวให้ฉิบหายตายไปนั้น
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็น

เจ้า โยมได้ยินเขาว่าก็ได้ยิน จะว่าได้เห็นก็ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนเถระจึงปุจฉาถามว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร
ต้นข้าวตายด้วยหนอนนั้น จะว่าตายเป็นกาลมรณะหรือไม่เล่า บพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชาญาณ ต้นข้าวอ่อนแม้ว่าหนอนไม่บ่อนไส้ ก็จะถึงซึ่งภาวะเป็นสัสสสมัย
จะเป็นข้าวปลูกต่อ ๆ ไป นี่ตายด้วยเหตุหนอนบ่อนไส้ มิทันที่จะเป็นเม็ดเป็นรวงสืบพืชพันธุ์ไป
อย่างนี้เรียกว่าตายเป็นอกาลมรณะทีเดียว นะพระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้
ประเสริฐ มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามิทันจะชราถึงอายุขัย และโรคอันใดอันหนึ่งวาตสมุฏฐานโรค
เป็นต้น ทำให้ถึงแก่ความตายนั้น ก็เหมือนกับต้นข้าวอ่อนหนอนกินไส้ให้ฉิบหายตายไปนั้น
อย่างนี้ชื่อว่าตายเป็นอกาลมรณะ อีกประการหนึ่ง บพิตรพระราชสมภาร ได้เคยสวนาการฟัง
บ้างหรือ สมฺปนฺเน สสฺเส เมื่อต้นข้าวบริบูรณ์เป็นรวงแล้ว แต่ทว่าไม่แก่นัก มญฺชรกํ ปตฺเต
พอจะและเล็มไปตากตำหุงกินได้ ในสมัยนั้น ยังมีห่าฝนห่าใหญ่ชาติหนึ่งนั้น ชื่อว่ากรกพรรษ
ตกลงมายังเมล็ดข้าวนั้นให้หล่นไปสิ้น
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา สุตปุพฺพํ แต่ก่อนโยมได้ยินเขาเล่ามา ที่ได้เห็นกับตาก็ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ
ตกว่าเมล็ดข้าวหล่นไปด้วยฝนกรกพรรษานั้น จะเรียกว่าฉิบหายเป็นกาล หรือว่าหามิได้ นะ
บพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชา ต้นข้าวนั้นเป็นรวงแล้ว ถ้าว่าฝนนั้นไม่ทำอันตราย ก็จะถึงซึ่งภาวะเป็นสัส-
สสมัย คือเป็นข้าวปลูกลูกพันธุ์สืบต่อไปได้ทีเดียว นี่หากฝนเจ้ากรรมมากระทำอันตราย ให้
หล่นฉิบหายไป หาทันที่จะเป็นสัสสสมัยไม่ ฉิบหายดังนี้ก็เรียกว่าเป็นอกาลพินาศนั้นแลซิ พระ
ผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้
ประเสริฐ มนุษย์ทั้งหลายเกิดมายังมิทันชราถึงอายุขัย เกนจิ โรเคน โรคสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีวาต-
สมุฏฐานโรคเป็นอาทิ ถึงตัวมนุษย์พวกนั้นให้ถึงแก่มรณภาพความตายดังนี้ ชื่อว่าอกาลมรณะ

เอวเมว มีอุปไมยดังข้าวร่วงฉิบหายไปมิทันจะถึงสัสสสมัยนั้น ขอถวายพระพร นี่และมนุษย์ที่
เกิดมาไม่ทันจะแก่ชราอายุขับ อันโรคอันใดอันหนึ่งมีวาตสมุฏฐานโรคเป็นอาทิ มีโอปักกมิกโรค
เป็นปริโยสาน เสียดแทงในกายตายไป บางทีอดข้าวตาย อดน้ำตาย อสรพิษขบตาย กินยาพิษ
ตาย ไฟไหม้ตาย ตกน้ำตาย เขาฆ่าฟันตาย และตายด้วยภัยสิ่งใดหนึ่งนั้น ได้ชื่อว่าถึง
แก่มรณภาพเป็นอกาลมรณะทั้งสิ้น บพิตรจงทราบในพระบวรราชสันดาน ด้วยประการดังนี้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีได้ทรงสวนาการดังนี้ มีพระทัยโสมนัสจึงตรัสว่า
อจฺฉริยํ ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาปัญหานี้เป็นอัศจรรย์
อพฺภูตํ ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้จำเริญปรีชา พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาอรรถแห่งปัญหานี้
เป็นอัพภูตพยากรณ์ช่างแก้ช่างไข้ ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็เปรียบให้ได้ยินได้ฟัง สุทสฺสิตํ การณํ
ช่างชักเอาเหตุมาอุปมาในอากาลมรณะให้สม สุทสฺสิตํ โอปมํ แล้วเอาอกาลมรณะเป็นตัวอุปไมย
เปรียบด้วยอุปมาวิสัชนาให้เห็นกระจ่าง เป็นตัวอกาลมรณะออกไปได้ ภนฺเต ข้าแต่พระ
นาคเสนผู้ปรีชาญาณ มนุษย์บางคนที่คิดเห็นอย่างเดียว เข้าใจอุปมาข้อเดียวจะพึงตกลงใจเห็น
ไปว่า มีแต่กาลมรณะเท่านั้น หามีอกาลมรณะไม่ ส่วนโยมนี้พระผู้เป็นเจ้าชักอุปมาให้เข้าใจ
โยมตกลงใจรู้แจ้งว่า อกาลมรณะก็มี จะมีแต่กาลมรณะหามิได้ ตั้งแต่พระผู้เป็นเจ้าชักอุปมา
ข้อต้นมาวิสัชนาให้ฟังแล้ว อปิจาหํ ภนฺเต ข้าแต่พระนาคเสนผู้จำเริญปรีชา พระผู้เป็นเจ้าจง
วิสัชนาดับความสงสัยข้ออื่น ๆ ของโยมเสียอีก โยมใคร่จะฟังข้อที่พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนามานี้
โยมเห็นถูกต้องแจ่มแจ้งทุกประการแล้ว โยมจะขอรับจำไว้ในกาลบัดนี้
กาลากาลมรณปัญหา คำรบ 1 จบเพียงนี้

ปรินิพพุตานัง เจติเย ปาฏิหารปัญหา ที่ 2


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา ตกว่าพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เมื่อท่านเข้านิพพานไปนั้น มีอัศจรรย์ที่
เชิงตะกอนในเจดีย์คือเมรุนั้น มีทุกพระองค์หรือ อุทาหุ หรือว่า บางพวกมีอัศจรรย์ บางพวกไม่
มีอัศจรรย์ (อัศจรรย์คือปาฏิหาริย์)
พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร บางพวกมี
ปาฏิหาริย์ บางพวกไม่มีปาฏิหาริย์