เมนู

ปรารภเมณฑกปัญหา


อถโข นาคโสน

ลำดับนั้น พระนาคเสนผู้มีอายุก็พระพรลากลับไปสู่สังฆราม
ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชา ผู้ประกอบด้วยปัญญาฉลาดที่จะไต่ถามอรรถ-
ปัญหา ครั้นว่าได้ไต่ถามพระนาคเสนส้องเสพย์สมาคมเข้าก็ค่อยมีปัญญากว้างขวางไปในพระ
ไตรปิฎก อันเป็นพระพุทธวจนะมีองค์ 9 ประการ จึงเสด็จเข้าสู่รโหฐานสงัด สมเด็จพระเจ้า
มิลินท์ปิ่นกษัตริย์จึงทรงรำพึงไปในราตรี รำพึงเห็นว่าเมณฑกปัญหานี้ยากที่บุคคลจะวิสัชนาได้
นานไปภายหน้ากุลบุตรในพระพุทธศาสนาจะสนทนากันด้วยพระพุทธวจนะเป็นมณฑกปัญหาแล้ว
จะวิวาทกันด้วยพระไตรปิฎกนั้นเป็นหลายสถาน สมเด็จพระศาสดาจารย์ตรัสไว้โดยปริยายนั้น
ก็ดี ตรัสไว้โดยอรรถนั้นก็ดี ตรัสไว้โดยสภาวะนั้นก็ดี หนฺท ผิดังนี้ อาตมานี้จะให้พระนาคเสน
ชื่นชมยินดีในถ้อยคำของอาตมาแล้ว จะถามซึ่งเมณฑกปัญหา ให้พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขให้
แจ้งแจ่มใส จะได้แก้เสียซึ่งทิฐิแห่งกุลบุตรอันจะเกิดมาในอนาคตกาลเบื้องหน้า
อถ โข มิลินฺโท ราชา อันดับนั้น สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ครั้นราตรี
รุ่งรางสว่างฟ้า เสียงสกุณานิกรนกผาดผันโผผินบินไปจากรวงรัง แร่ร่อนสัญจรเที่ยวเล็มล่าหา
อาหาร ชาวพนักงานพร้อมเพรียง ก็ประโคมด้วยเสียงดุริยางคดนตรีกระจับปี่สีซอแตรสังข์
หมู่พราหมณ์นั่งถวายชัยมงคล สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ก็เสด็จออกจากที่รโหฐาน ชำระพระองค์
สรงสนานแล้ว น้ำพระทัยเธอผ่องแผ้วมิได้น้อมไปต่อเมถุนธรรม ตั้งอัญชลีประนมเหนือ
ศิโรตม์ของอาตมา อนุสฺสริตฺวา มาระลึกถึงคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นอดีตล่วงแล้วและ
เป็นอนาคตปัจจุบัน ขณะนั้นท้าวเธอก็สมาทานซึ่งวัตรปฏิบัติแปดประการด้วยสันนิษฐานเข้า
พระทัยฉะนี้ว่า อาตมาจะสมาทานซึ่งคุณ 8 ประการ จะตั้งตบะคุณให้เกิดขึ้นเป็นอันดี เมื่อ
อาตมาสำเร็จตบะพิธีแล้ว ยังอาจารย์คือพระนาคเสนให้ท่านชื่นชมยินดีแล้ว จะถามเมณฑก-
ปัญหา พระเจ้ามิลินท์ทรงพระจินตนาการดังนี้ มิได้ช้า อปนยิตฺวา พระองค์ผลัดพระภูษาที่ทรง
เป็นปกติเสียแล้ว ทรงนุ่งผ้าย้อมฝาดผืนหนึ่งพันคาดพระเศียรกระทำเหมือนวงแหวนอัน
งามบวร เปลื้องเสียซึ่งอาภรณ์อันงามวิจิตร สถิตอยู่ในที่เป็นมุนีภาวะนักปราชญ์ปรีชาญาณ
แล้วสมาทานซึ่งคุณ 8 ประการถ้วน 7 วัน
คุณ 8 ประการนั้น น รญฺญา อตฺโถ อนุสาสิตพฺโพ คือมิได้สั่งสอนอรรถธรรมว่า
ราชการนั้นประการ 1 น ราคุนปสญฺหิตํ จิตฺตํ อุปาเทตพฺพํ มิได้ให้จิตกำหนัดยินดี ด้วย
อำนาจแห่งราคะดำฤษณาประการ 1 น กสฺสจิ ปรสฺส โกโธ กรณีโย มิให้พระทัยโกรธ
เคียดแค้นแก่ผู้ใดผู้หนึ่งประการ 1 น โมหวเสน จริตพฺพํ มิได้ประพฤติเป็นมโหจริตลุ่มปลง

ประการ 1 นิวาตวุตฺตินา ภวิตพฺพํ ประพฤติอ่อนน้อมต่อนางทาสีและนางพนักงานใช้และ
ห้ามแหนทั้งปวง มิให้หยาบช้าทารุณประการ 1 กายิกวาจสิกํ อนุรกฺขิตพฺพํ รักษาซึ่งสุจริต
คือกายและวาจาประการ 1 ฉปิ อายตนานิ รกฺขิตพฺพานิ รักษาสำรวมอายตนะ 6 ประการ มี
จักขวายตนะ เป็นต้น มีมนายตนะเป็นปริโยสานประการ 1 เมตฺตาภาวนา มานสํ ปกฺขิปิตพฺพํ
ปลงจิตลงในกระแสเมตตาภาวนาประการ 1 สิริเป็นคุณ 8 ประการเท่านี้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ปลงพระทัยสถิตในคุณ 8 ประการนี้ มิได้เสด็จ
ออกกำหนด 7 วัน ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันอัฏฐมี สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงเสวย
พระสุธาหารแต่เช้า สนทนาพาทีด้วยถ้อยคำควรจะรักใคร่ ตั้งอยู่ในอริยาบถเป็นอันดี มีน้ำ
พระทัยมิได้ฟุ้งซ่าน มีพระหฤทัยชื่นบานหรรษาเฟื่องฟู จึงเสด็จไปสู่สำนักพระนาคเสนผู้วิเศษ
ประนมกรขึ้นเหนือเกศแล้วจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้
ปรีชา โยมจะใคร่สนทนาอรรถอันหนึ่งกับพระผู้เป็นเจ้าสองต่อสอง และอรรถอันนี้อย่าให้มีคน
อื่นแซมแทรกแปลกปลอมเข้ามาได้ อรรถอันนี้เป็นโอกาสอันลับสงัด ดุจป่าอันสงัดสมควร
แก่สมณสารูป โยมจะถามอรรถอันนี้เป็นปัญหา นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนา แต่ทว่าอรรถที่
ไม่ควรจะลับก็ อย่าได้ลับอย่าได้ซ่อนอำพรางปกปิดไว้ จงกระทำอุปมาอุปไมยให้เห็นแจ้งแจ่มใส
ยถา กึ วิย จะเหมือนด้วยสิ่งใดดี มีครุวนาดุจปฐพีอันเป็นที่จะซ่อนของไว้ และเป็นที่หาของ
ตรึกตรองคิดซึ่งอรรถนั้น ตรัสฉะนี้แล้วก็เสวยพระสุทธาหารแต่เช้า เสด็จเข้าสู่ที่สงัดกับพระนาค
เสนแล้วมีพระราชโองการ ตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนพระผู้เป็นเจ้า บุคคลจะ
ิคิดซึ่งอรรถอันคัมภีรภาพลึกลับนั้น ให้เว้นจากปริวัชชนียฐาน 8 ประการ และบุรุษจะรำพึงการ
อันเป็นอรรถอันลับ จะพูดอรรถอันลับนั้นถ้าไม่เว้นที่ควรเว้น 8 ประการนี้แล้ว ย่อมจะเสียความ
ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ปริวัชชนียฐาน 8 ประการนั้น วิสมํ ฐานํ คือที่มิได้เสมอกันนี้
ประการ 1 สพฺภยํ คือที่ประกอบด้วยภัยประการ 1 อติวาโต คือที่ลมพัดแรงนักประการ 1
ปฏิจฺฉนฺนํ คือ ที่กำบังประการ 1 เทฏฺฐานํ คือที่เทวสถานประการ 1 ปนฺโถ คือหนทาง
ประการ 1 สงฺกโม คือที่ย่างขึ้นย่างลงประการ 1 อุทติตฺกํ คือที่ท่าน้ำประการ 1 สิริเป็น
ปริวัชชนียฐาน 8 ประการในกาลบัดนี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้ามิลินทราธิบดีมีพระราช
โองการตรัสแก่พระนาคเสน ดังนี้
พระนาคเสนเถระจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ที่ควรจะเว้น
ทั้ง 8 ประการนั้นเป็นเหตุไฉน บพิตรจงวิสัชนาให้แจ้งแต่ละข้อ อย่าให้ย่อ จะตรัสไปให้แจ้งก่อน
ณ กาลบัดนี้

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงพระราชโองการแก้ไขว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ปรีชา
บุรุษจะพิจารณาตรึกตรองซึ่งอรรถนั้นฟั่นเฟือนเร่ร่อนไป เพราะเหตุว่าที่นั้นไม่เสมอ นั่งนอน
ไม่สบายประการ 1 ข้อหนึ่งบุรุษนั่งรำพึงอรรถในที่อันมีภัยผีช้างร้ายเสือร้ายเป็นต้น ก็
ให้ขนพองสยองเกล้ามิอาจจะรำพึงอรรถนั้นได้ประการ 1 ข้อหนึ่งเล่าบุรุษจะคิดซึ่งอรรถในที่ลม
กล้า ตกว่าเสียงลมพัดดังตลบอบไป มิอาจที่จะคิดอรรถอันนั้นได้ประการ 1 ข้อหนึ่งเล่า
บุคคลจะคิดอรรถในที่ลับนั้น จะมีคนมองฟังให้เสียการนี้อย่าง 1 ข้อหนึ่งเล่าบุรุษจะคิดซึ่งอรรถ
ในที่เทวสถานดุจศาลเทพารักษ์นั้นต้องห้ามอยู่ เพราะว่าศาลเทพารักษ์นั้นเป็นที่เคารพนบนอบ
ไม่ควรจะคิดอรรถ นัยหนึ่งว่าเป็นที่คนไปมาบวงสรวงสักการบูชาคำนับประการ 1 ข้อหนึ่งจะ
คิดอรรถที่หนทางคนเดินไม่ได้ความ เพราะคนไปมาสับสนประการ 1 ข้อหนึ่งจะคิดอรรถอันลับ
ที่คนเขาจะย่างขึ้นจะย่างลงนั้น ย่อมกระทั่งกระเทือนไม่สงัด มิอาจนะรำพึงอรรถอันลับได้
ประการ 1 ข้อหนึ่งจะคิดอรรถที่ท่าน้ำนั้น เป็นที่คนไปตักน้ำไปอาบน้ำสำส่อน ไม่ควรจะคิด
การลับประการ 1 เหตุฉะนี้จึงว่าที่ทั้ง 8 ประการ วิสมํ คือที่ไม่เสมอ สพฺภยํ คือที่เป็นที่
สะดุ้งตกใจ อติวาโต คือที่ด้านลมพัด ปฏิจฺฉนฺนํ คือที่กำบัง เทวนิสฺสิตํ คือที่เทวดาสิงอยู่
ปนฺโถ คือหนทาง สงฺกโม คือที่ย่างไป ติตฺโถ คือท่าน้ำ ที่ 8 ประการนี้เป็นที่ควรเว้น
ไม่ควรจะสนทนาพูดจาซึ่งอรรถอันลับ
ประการหนึ่งเล่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ ยังมีบุคคลอีก 8 จำพวก
ถ้าว่าคิดอรรถแล้ว พฺยาปาเทนฺติ ยังอรรถอันลึกลับให้ฉิบหายไป กตเม อฏฐ ปุคฺคลา บุคคล 8
จำพวกนั้นได้แก่ใครบ้าง ราคจริโต ปุคฺคโต คือบุคคลเป็นราคจริตพวก 1 โทสจริโค ปุคฺคโล
คือบุคคลเป็นโทสจริตพวก 1 โมหจริโต ปุคฺคโล คือบุคคลเป็นโมจริต พวก 1 มานจริโต
ปคฺคโล
คือบุคคลเป็นมานจริตพวก 1 ลุทฺโธ คือบุคคลหยาบพวก 1 อลโส คือบุคคลเกียจ
คร้านพวก 1 เอกจินฺติโต คือบุคคลมีจิตคิดเห็นเอาแต่ในตัวนั้นพวก 1 พาโล คือบุคคลเป็น
พาลพวก 1 สิริเป็น 8 จำพวกด้วยกัน เมื่อสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีตรัสฉะนี้
พระนาคเสนเถระจึงมีวาจาซักถามว่า เหตุกระไรเล่า บพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ จึงมีพระราชโองการตรัสว่าภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้เจริญ บุคคลที่เป็นราคจริตนั้น กำหนัดอยู่ด้วยราคะ แม้นจะพูดด้วยอรรถอัน
ลับจะคิดซึ่งอรรถอันลับมิอาจจะคิดได้ ยังอรรถอันลับให้ฉิบหาย นะผู้เป็นเจ้า ประการหนึ่งเล่า
บุคคลเป็นโทสจริตนั้น ยังอรรถอันลับให้ฉิบหายไปด้วยใจนั้นโทโสเข้าครอบงำในสันดาน และ
คนเป็นโมหจริตคิดการอันลับนั้นไม่ได้ ด้วยเป็นคนหลงลืมฟั่นเฟือนไป บุคคลเป็นมานจริตนั้น
ไม่คิดอรรถอันลึกลับได้ด้วยใจมานะกระด้างดื้อถือผิดเป็นชอบ และบุคคลหยาบนั้นก็ไม่คิด

อรรถอันลึกลับได้เพราะมีความคิดหยาบ และบุคคลผู้เกียจคร้านนั้น ก็ไม่คืออรรถอันลึกลับได้
เพราะประกอบไปด้วยความเกียจคร้าน และบุคคลประกอบเป็นเอกจินติตะนั้น คิดให้เนื่องระคน
ปนเข้าที่ตนคิดเห็นไปผู้เดียวไม่มีใครเห็นด้วย จึงคิดอรรถอันไม่ได้ บุคคลที่เป็นใจพาลปัญญา
น้อยมิอาจจะคิดอรรถอันลับได้ พระผู้เป็นเจ้าจงรู้เถิดด้วยประการฉะนี้ นี่แหละพระอาจารย์เจ้า
ผู้แต่งคัมภีร์ จึงผูกเป็นคาถาไว้ดังนี้
ราคโทโส จ โมโห จ มาโน ลุทฺโธ จ อลโส
เอกจินฺติโต จ พาโล ปญฺญาเวกลฺลตาย จ
เอเต อตฺถํ วินสฺเสยฺยุํ อฏฺฐมนฺตวินาสกา

แปลเนื้อความในพระคาถานี้ว่า บุคคล 8 จำพวกนี้คือ บุคคลประกอบด้วยราคะ 1
บุคคลประกอบด้วยโทสะ 1 บุคคลประกอบด้วยโมหะ 1 บุคคลประกอบด้วยมานะ 1 บุคคล
หยาบ 1 บุคคลเกียจคร้าน 1 บุคคลเป็นเอกจินติตะ 1 บุคคลเป็นพาล 1 นี่แหละจะคิดอรรถ
อันลึกลับมิได้ สิ้นความในพระคาถาเท่านี้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสต่อไปว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ
นาคเสนผู้เจริญ อันว่าบุคคล 9 จำพวกนี้มิอาจจะเปิดออกซึ่งอรรถอันลึกลับได้ และบุคคล 9
จำพวกนี้มิอาจจะทรงจะจำไว้ซึ่งอรรถอันลึกล้ำคัมภีรภาพได้ คน 9 จำพวกนั้นอย่างไร คน 9
จำพวกนั้น คือบุคคลเป็นราคจริต 1 โทสจริต 1 โมหจริต 1 ภีรุโก คือบุคคลมีชาติอันขลาด 1
อามิสครุ คือบุคคลเคารพในลาภ 1 อิตฺถี คือสตรีภาพ 1 โสณฺฑี คือนักเลงสุรา 1 มณฺฑโก
คือคนขี้แต่งตัว 1 ทารโก คือทารก 1 สิริเป็น 9 ด้วยกัน
พระนาคเสนจึงถามว่า คนทั้ง 9 นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร จึงมิอาจจะจำไว้ซึ่งอรรถ
และมิอาจจะทรงไว้ซึ่งอรรถนั้นได้
พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงวิสัชนาแก้ไขว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ บุคคลที่
ประกอบในราคจริตนั้น มีจิตกำหนัดจึงมิอาจจะคิดอรรถเปิดอรรถทรงอรรถไว้ได้ บุคคลที่เป็น
โทสจริตนั้น มีจิตอันโทโสครอบงำ มีแต่จะคิดเป็นวิหิงสาพยาบาทไป จึงมิอาจจะคืออรรถ
จำอรรถเปิดออกซึ่งอรรถได้ บุคคลที่ประกอบไปด้วยโมหจริตนั้น มีแต่จะหลงเลือนเหือนไป
มิอาจจะจำอรรถทรงอรรถคิดอรรถเปิดออกซึ่งอรรถให้แจ้งได้ ภีรุโก คนมีชาติอันขลาดมีแต่จะ
ให้กลัวไป มิอาจจะเปิดซึ่งอรรถจำอรรถได้ บุคคลที่มีจิตเคารพในอามิสนั้น ด้วยใจนั้นน้อมไป
ต่อที่จะได้อามิส จึงมิอาจจะคิดอรรถได้ มิอาจจะจำทรงอรรถได้ สตรีภาพที่ใจลามกปัญญา
เขลาโฉดนั้น มิอาจจะคิดซึ่งอรรถจำอรรถเปิดอรรถอันลับออกได้ และนักเลงสุรานั้นพะวงอยู่ที่

จะดื่มสุรา จึงมิอาจจะจำอรรถเปิดออกซึ่งอรรถอันลับได้ มณฺฑโก คนโอ่โถงมักตบแต่งซึ่งกาย
มีจิตหมายจะให้ผู้อื่นรักนั้น เป็นกังวลอยู่ด้วยจะแต่งกาย จึงมิอาจจะคิดอรรถจำอรรถทั้งหลายได้
อนึ่งทารกนั้นมีสติปัญญาอ่อน รู้แต่จะคะนองไหววิ่งเล่น จึงมิอาจจะคิดอรรถทรงอรรถไว้ได้
แก้ไขมาถ้วนบุคคล 9 จำพวกเท่านี้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชาชาวสาคลราษฎร์ จึงมีพระราชโองการตรัสประภาษว่า
ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา อันว่าเหตุอันจะให้ได้ปัญญานี้มี 8 ประการ คือ
บุคคลมีวัยอันจำเริญนี้ประการ 1 จำเริญยศประการ 1 อุตสาหะหมั่นไต่ถามนี้ประการ 1
มิได้คบหาด้วยเดียรถีย์ประการ 1 ปัญญาเจริญด้วยโยนิโสมสิการกำหนดเอานั้นประการ 1
ปัญญา นั้นจำเริญด้วยธรรมสากัจฉาพูดจาอรรถธรรมนั้นประการ 1 มีสิเนหารักใคร่ใน
อรรถธรรมนั้นประการ 1 อยู่ในประเทศอันสมควรนั้นประการ 1 สิริเป็นองค์ 8 ประการดังนี้
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการตรัสต่อไปว่า อยํ ภูมิภาโค ประเทศที่อันนี้ก็
ประกอบด้วยองค์คุณ 8 ประการ อนึ่ง โยมก็เป็นเพื่อนพอจะปรึกษาหารืออันยิ่งของพระผู้
เป็นเจ้าได้ และจะรักษาไว้ซึ่งข้อความอันลับ ถ้าชีวิตของโยมยังมีอยู่ตราบใด ก็จะรักษาไว้
ตราบนั้น บัดนี้ปัญญาของโยมก็น้อมมาด้วยเหตุ 8 ประการ อันเตวาสิกเห็นปานดังโยมนี้หาได้
เป็นอันยากนักหนา อนึ่งเล่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อันว่าอาจริยคุณมี 25
ประการ อนฺเตวาสิกมฺหิ สตตํ สมิตํ คืออาจารย์อุปถัมภ์แก่ศิษย์ รักศิษย์เป็นนิจเนืองไป
ประการ 1 อาเสวนา นาเสวนํ คืออาจารย์รู้ว่าศิษย์นี้ควรจะคบหาไว้และคบหาไว้มิได้
ประการ 1 ปมตฺตาปมตฺตํ ชานิตพฺพํ คือรู้ว่าศิษย์ประมาทและมิได้ประมาทประการ 1
เสยฺโยวกาโส คือรู้ว่าโอกาสแห่งศิษย์จะนอนประการ 1 คิลาโน คือรู้ว่าศิษย์เจ็บไข้ประการ 1
โภชนํ ลทฺธาลทฺธํ คือรู้ดูเอาใจใส่ว่าศิษย์คนนั้นได้โภชนะอาหารแล้ว ศิษย์คนนี้ยังไม่ได้ซึ่ง
อาหารประการ 1 วิเสโส ชานิตพฺโพ คืออาจารย์รู้คุณวิเศษประการ 1 อาจารย์พึงแจกส่วน
อาหารให้ศิษย์ประการ 1 อาจารย์พึงเล้าโลมศิษย์ว่าอย่ากลัวประการ 1 อาจารย์พึงรู้ซึ่งจะ
สอนศิษย์ว่า บุคคลผู้นี้จำเริญ ประพฤติอย่างนี้ ควรที่ท่านจะประพฤติต่อไปประการ 1 อาจารย์
รู้คามอุปจารประการ 1 อาจารย์รู้คุณวิหารอุปจารประการ 1 อาจารย์มิให้ศิษย์เล่นและหัวเราะ
เล่นประการ 1 อาจารย์เห็นว่าศิษย์เป็นโทษ ห้ามเสียงซึ่งโทษ อดโทษศิษย์ประการ 1 สกฺกจฺจํ
การินา
มีปรกติอ่อนน้อมต่อศิษย์ประการ 1 อวขณฺฑา การินา มีปรกติตักเตือนมิให้ขาดจาก
เล่าเรียนประการ 1 อรหสฺสํ การินา มิได้กระทำกำบังไว้ซึ่งอรรถอันลับแก่ศิษย์ประการ 1
นิรสเสสํ การินา มีปรกติมิให้อรรถอันลับนั้นเหลืออยู่ประการ 1 อาจารย์พึงคิดว่าจะให้ศิษย์รู้
ศิลปศาสตร์ประการ 1 อาจารย์พึงคิดว่าจะมิให้ศิษย์เสื่อมจากศิลปศาสตร์ อุปถัมภ์ใจศิษย์ให้



ศิษย์มีจิตจำเริญประการ 1 อาจารย์พึงคิดอุปถัมภ์ศิษย์ว่า อาตมาจะกระทำศิษย์นี้ ให้หัดศึกษา
เล่าเรียนวิชานี้ประการ 1 อาจารย์พึงตั้งจิตเมตตาต่อศิษย์ประการ 1 อาจารย์มิได้ทิ้งศิษย์เมื่อ
อันตรายมาถึงประการ 1 อาจารย์มิได้ประมาทในกิริยาอันควรจะกระทำแก่ศิษย์ประการ 1
ธรรมที่ศิษย์เรียนเคลื่อนคลาดไป อาจารย์พึงยกขึ้นบอกให้ประการ 1 สิริเป็นคุณอาจารย์ 25
เท่านี้ พระผู้เป็นเจ้าจงปฏิบัติต่อโยมด้วยอาจริยคุณ 25 ประการ ดุจพรรณนาฉะนี้ เพราะ
ศิษย์เช่นตัวข้าพเจ้านี้หายากนักหนา บัดนี้ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูเมณฑกปัญหา ชินเทสิโต ที่
สมเด็จพระมหาชิเนนทรสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้ ข้าพเจ้าสงสัยอยู่มากนักหนา อนาคเต
อทฺธาเน
เมื่อกาลล่วงไปข้างหน้ากุลบุตรที่เกิดมาเป็นปัจฉิมาชนตาจะวิวาทกัน จะมีปรับ
ปวาทคำภายนอกสอดถามเข้ามา จะหามีผู้วิสัชนาแก้ไขไม่ และภิกษุซึ่งจะมีปัญญาเช่นพระผู้
เป็นเจ้าไปข้างหน้าจะหายามไม่มีแล้ว นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าให้จักขุไว้ที่จะได้แก้ไขปัญหาข่มขี่
ถ้อยคำปรับปวาทเมื่อหน้า โยมจะถามปัญหาแก่พระผู้เป็นเจ้าสืบไป จงโปรดวิสัชนาแก้ไข
ในกาลบัดนี้
พระนาคเสนรับคำว่าสาธุแล้วก็สำแดงคุณอุบาสก 10 ประการว่า มหาราช ขอ
ถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร คุณอุบาสก 10 ประการ คือ อุบาสกในพระศาสนานี้มี
สุขและทุกข์เสมอกันไปด้วยพระภิกขุสงฆ์ประการ 1 อุบาสกพึงรักษาสุจริตในกายและวาจา
ิมิได้ประพฤติทุจริตประการ 1 มีธรรมเป็นอธิบดีประการ 1 สํวิภาครตฺโต ยินดีที่จะจำหน่าย
จ่ายทานประการ 1 เพียรพยายามเพื่อจะรู้คำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรเจ้าประการ 1
สมฺมาทิฏฺฐิโก เป็นสัมมาทิฏฐิประการ 1 ปราศจากโกตุหลมงคลภายนอกพระศาสนา ถึงจะ
เสียชีวิตก็มิได้สำนักครูภายนอกพระศาสนาประการ 1 สมคฺคาราโม ยินดีในที่จะให้พระ
ภิกษุสงฆ์พร้อมเพรียงกัน และยังอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายให้พร้อมหน้ากันทำบุญให้ทาน
ประการ 1 มิได้ประพฤติโกกกลามกในพระศาสนาประการ 1 ถึงซึ่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ
พระสังฆคุณ เป็นที่พึ่งประการ 1 ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สิริคุณอุบาสก 10 ประการ คุณ
อุบาสก 10 ประการนี้พึงให้มีในพระราชสันดานแห่งมหาบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง
มหาบพิตรพึงเอาพระทัยใส่ เห็นเหตุสิ่งไรที่พระพุทธศาสนาจะโรยราเสื่อมเศร้าไป มีน้ำพระทัย
จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรจำเริญไป จงไต่ถามไว้อย่าให้เคลื่อนคลาด อาตมาถวาย
โอกาสแก่มหาบพิตร มหาบพิตรจงถามให้สำราญพระทัยในกาลบัดนี้

ปฐมวรรค


วัชฌาวัชฌปัญหา ที่ 1


อถโข มิลินฺทสฺส รญฺโญ เอตทโหสิ

ลำดับนั้นสมเด็พระเจ้ามิลินท์ทรงพระจินตนา
การดำริฉะนี้ว่า พระนาคเสนผู้มีอายุให้โอกาสอาตมาแล้ว ควรที่อาตมาจะถามเถิด ดำริฉะนี้
แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ผู้เป็นปิ่นกษัตริย์ ก็หมอบลงกับบาทยุคลพระนาคเสนผู้เป็น
อาจารย์ กระทำอัญชลี นมัสการเหนืออุตมางคศิโรตม์มีพระโองการตรัสว่า ได้โปรดเถิดพระ
เจ้าข้า ด้วยคำเดียรถีย์ว่า เมื่อสมเด็จพระมหากรุณาเจ้ามีพระชนมายุอยู่นั้น สาธุสัตบุรุษจะบูชา
นับถือก็ควร บัดนี้พระเจ้าเข้านิพพานล่วงลับไปแล้วจะไหว้จะบูชา สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าไม่
ยินดี ธรรมดาว่ากระทำสักการบูชาแก่พระชินสีห์ อันมิได้ยินดีนี้มีโทษหาผลมิได้ อยํ ปญฺโห
อันว่าปัญหาที่ถามนี้ อุภโต โกฏิโก มีเงื่อนเป็นสอง เนโส วิสโย ปัญหานี้จะได้ต้องด้วย
วิสัยแห่งคนมีปัญญาน้อยมีความคิดน้อยหามิได้ เป็นวิสัยแห่งคนอันมีปัญญามากมีความคิด
มาก ธรรมดาว่าวิสัยแห่งคนมีปัญญาน้อยคิดไม่ถึงจึงเป็นทิฐิไป พระผู้เป็นเจ้าจงวิสัชนาแก้ไข
อธิบาย ทำลายเสียซึ่งทิฐิทั้งหลายเถิด ปัญหานี้มาถึงแก่พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐ พระผู้เป็นเจ้า
ผู้ประเสริฐจงให้จักษุปัญญาไว้แก่พระชินบุตร อันจะเกิดมาสุดท้ายภายหลัง เพื่อจะทำลายซึ่ง
คำปรับปวาททั้งหลายในกาลบัดนี้
พระนาคเสนเถรเจ้าผู้ประเสริฐจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร
คำที่ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าเข้าสู่พระนิพพานล่วงไปแล้วนั้น มิได้ยินดีด้วยเครื่องสักกาบูชานั้น
อย่าว่าไปเลย ถึงมีพระชนม์อยู่ก็ไม่เสวยโสมนัสยินดีในลาภสักการะที่เทพยดามนุษย์บูชา
สาทิยา อันว่าความยินดีนี้ สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าละเสียแต่ควงไม้พระศรีมหา
โพธิเมื่อแรกได้ตรัส ดังฤๅเล่าสมเด็จพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานด้วยนิพพานธาตุ ขาดจากเชื้อ
ตัณหาจะยินดี ด้วยเครื่องสักกาบูชาหามิได้ อนึ่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ดังนี้ว่า
อันสมเด็จ พระชินสีห์จะได้ยินดีในเครื่องบูชาหามิได้ แต่ทว่าควรที่โลกเทวดามนุษย์จะบูชา
เป็นธรรมดา เมื่อโลกบูชาแล้ว มีผลมากนักหนา ของถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรมีพระราชโองการตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้ามาอ้างเอาคำ
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรนี้ เหมือนบิดาสรรเสริญซึ่งบุตร เหมือนบุตรสรรเสริญซึ่งบิดา เชื่อ
ฟังยังไม่ได้ก่อน จงวิสัชนาไปใหม่เพื่อจะทำลายเสียซึ่งทิฐิทั้งหาย จงตั้งไว้ซึ่งสกวาทีคลายเสีย
ซึ่งทิฐิทั้งหลาย