เมนู

ป. เขาได้ใช้ให้ทำกรรมนั้นแล้ว มิใช่หรือ ?
ส. ถูกแล้ว.
ป. หากว่า เขาได้ใช้ให้ทำกรรมนั้นแล้ว ก็ต้องไม่กล่าว
ว่า บุคคลผู้ใช้ให้ทำอนันตริยกรรม พึงก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามได้.
อนันตราปยุตตกถา จบ

อรรถกถาอนันตราปยุตตกถา



ว่าด้วย บุคคลผู้ใช้ให้ทำอนันตริยกรรม



บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องบุคคลผู้ใช้ให้ทำอนันตริยกรรม คือผู้สั่งให้ทำ
อนันตริยกรรม. ในเรื่องนั้น บุคคลใดสั่งให้ทำอนันตริยกรรมมีการฆ่า
มารดาเป็นต้นอันให้ผลโดยไม่มีภพอื่นคั่นในระหว่างโดยประเภทแห่งขันธ์
บุคคลนั้นชื่อว่าผู้ใช้ให้ทำอนันตริยกรรม ในเรื่องนี้ สกวาทีทำการสันนิษฐาน
คือลงความเห็นในลัทธิของตนว่า บุคคลใดจักกระทำกรรมนั้นที่เขาสั่ง
ด้วยคำสั่งที่แน่นอน บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้เที่ยงในทางที่ผิด เขาย่อมเป็นผู้
ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม เพราะความที่เจตนาที่ยังประโยชน์ให้
สำเร็จเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าบุคคลใดจักกระทำซึ่งกรรมที่เขาสั่งนั้นด้วย
คำสั่งที่ไม่แน่นอน บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้เที่ยงในทางที่ผิด เขาย่อมเป็น
ผู้ควรเพื่อก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามเพราะความที่เจตนาอันให้สำเร็จประโยชน์
นั้นยังไม่เกิดขึ้น ดังนี้.
ชนเหล่าใด มีความเห็นผิด ดุจลัทธินิกายอุตตราปถกะทั้งหลายว่า
บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามทั้งนั้น แม้คำสั่ง
แน่นอนก็ตาม ไม่แน่นอนก็ตาม ดังนี้ เพื่อทำลายลัทธิแห่งชนเหล่านั้น

สกวาทีจึงให้ปรวาทีถามตนก่อนว่า บุคคลผู้ใช้ให้ทำอนันตริยกรรม
เป็นต้น ด้วยเหตุนั้น คำถามแรกในปัญหานี้จึงเป็นของปรวาที คำตอบ
รับรองหมายเอาความไม่มีเจตนาที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเป็นของสกวาที.
จากนั้นปรวาทีสำคัญอยู่ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้เที่ยงในทางที่ผิดเพราะการ
สั่งให้ทำกรรมมีการฆ่ามารดาเป็นต้นนั่นเทียว เพราะฉะนั้น จึงถาม
ปัญหาว่า (เขา) พึงก้าวลงสู่มิจฉัตตนิยาม เป็นต้น สกวาทีตอบปฏิเสธ
ว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น โดยหมายเอาการไม่ก้าวลงสู่นิยามทั้ง 2 ของ
บุคคลผู้เดียว คำว่า กรรมนั้น ได้แก่ อนันตริยกรรม มีการฆ่ามารดา
เป็นต้น. ในปัญหานั้น สกวาทีตอบรับรองว่า ใช่ หมายเอาคำสั่งที่ไม่
แน่นอน. เพราะว่าความรำคาญใจ และความเดือดร้อน ย่อมเกิดขึ้นแก่
ผู้ชักนำทำคำสั่งอันไม่แน่นอนว่า เราทำกรรมอันไม่สมควรแล้วทีเดียว
ดังนี้. คำว่า หากว่า เป็นต้น ที่ปรวาทีกล่าวก็เพื่อจะให้ลัทธิตั้งไว้ด้วย
การถือเอาซึ่งเหตุสักว่าความเกิดขึ้นแห่งความรำคาญใจ.
บัดนี้ เป็นคำถามของสกวาทีว่า บุคคลผู้ใช้ให้ทำอนันตริยกรรม
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม
เพราะถือเอาบุคคลนั้นนั่นแหละ
ที่ปรวาทีตอบปฏิเสธถึงการก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามของผู้ชักนำในการ
ทำอนันตริยกรรมแม้ด้วยคำสั่งอันไม่แน่นอน. คำตอบรับรองของปรวาที
ย่อมมีด้วยสามารถแห่งลัทธิของตน. ลำดับนั้น สกวาทีเพื่อท้วงปรวาที
นั้นว่า บุคคลผู้ไม่ควรก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามเป็นทำกรรมมีการฆ่ามารดา
เป็นต้น ก็กรรมเหล่านั้นอันบุคคลนั้นทำแล้วหรือ จึงกล่าวคำว่า เขาได้
ปลงชีวิตมารดา
เป็นต้น. ปรวาทีเมื่อไม่เห็นการกระทำเช่นนั้น เพราะ
ความไม่เบียดเบียนชนเหล่านั้น จึงตอบปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.

คำว่า ล้มเลิกกรรมนั้นแล้ว ท่านกล่าวหมายเอากรรมอันเป็น
คำสั่งที่ไม่แน่นอน อธิบายว่า บุคคลผู้ห้ามคำสั่งอยู่ว่า ก็กรรมนั้นแล.
เราสั่งแล้ว ขอท่านอย่าทำ
ดังนี้ ชื่อว่า คำสั่งนั้นอันตนล้มเลิกเสียแล้ว
เพราะความที่คำสั่งนั้นอันตนถอนเสียแล้วนั่นแหละ จึงชื่อว่าตนกำจัด
ความรำคาญใจ และความเดือดร้อนใจได้ในปัญหานี้ แม้ครั้นเมื่อความ
เป็นอย่างนี้มีอยู่ ปรวาทีสำคัญอยู่ซึ่งความที่คำสั่งแรกเท่านั้นเป็นคำสั่ง
แน่นอน ในปัญหานั้น จึงตอบรับรองว่า ใช่. ทีนั้น สกวาทีจึงให้ปรวาที
รับคำซึ่งความที่กรรมนั้นเป็นกรรมอันถอนแล้ว จึงกล่าวคำว่า หากว่า
เป็นต้น เพื่ออันยังลัทธิของตนให้ตั้งไว้. ในปัญหาที่สุดว่า บุคคลผู้ใช้ให้
ทำอนันตริยกรรม
อีกเป็นคำถามของปรวาทีซึ่งเหมือนปัญหาแรก คำ
ตอบรับรองเป็นของสกวาที. คำซักถามว่า เขาได้ใช้ให้ทำอนันตริยกรรม
นั้นแล้วมิใช่หรือ
เป็นของปรวาที คำตอบรับรองสกวาทีหมายเอา
การชักนำแล้วในกาลก่อนแต่การถอนคำ. การตั้งลัทธิของปรวาทีด้วย
คำว่า หากว่า เป็นต้น ได้แก่ ด้วยอำนาจคำสั่งที่ไม่แน่นอนเพราะถือ
เอาเหตุสักว่าความเป็นผู้สั่งก่อนของผู้ชักนำ. ก็ลัทธินี้ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
เลย เพราะตั้งไว้โดยไม่พิจารณา ดังนี้.
อรรถกถาอนันตราปยุตตกถา จบ

นิยตัสสนิยามกถา



[1521] สกวาที บุคคลผู้แน่นอนแล้ว ย่อมก้าวลงสู่ทางแน่นอน
(นิยาม) หรือ ?
ปรวาที ถูกแล้ว.
ส. บุคคลผู้แน่นอนแล้วในมิจฉัตตะ ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม
ได้ บุคคลผู้แน่นอนแล้วในสัมมัตตะ ก็ก้าวลงสู่มิจฉัตตนิยามได้ หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. บุคคลแน่นอนแล้ว ย่อมก้าวลงสู่ทางแน่นอน หรือ ?
ป. ถูกแล้ว.
ส. ยังมรรคให้เกิดก่อนแล้ว จึงก้าวลงสู่ทางแน่นอน (นิยาม)
ในภายหลัง หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. ยังโสดาปัตติมรรคให้เกิดก่อนแล้ว จึงก้าวลงสู่โสดา-
ปัตตินิยามในภายหลัง หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. ยังสกทาคามิมรรค ฯลฯ ยังอนาคามิมรรค ฯลฯ ยัง
อรหัตมรรคให้เกิดก่อนแล้ว จึงก้าวลงสู่อรหัตตนิยาม ในภายหลัง หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. บุคคลยังสติปัฏฐาน ฯลฯ ยังสัมมัปปธาน ฯลฯ ยัง
อิทธิบาท ฯลฯ ยังอินทรีย์ ฯลฯ ยังพละ ฯลฯ ยังโพชฌงค์ให้เกิดก่อนแล้ว
จึงก้าวลงสู่ทางแน่นอนในภายหลัง หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ