เมนู

[32]

สมสีสีบุคคล

บุคคลผู้ชื่อว่าสมสีสีเป็นไฉน ?

การสิ้นไปแห่งอาสวะ และการสิ้นไปแห่งชีวิตของบุคคลใด มีไม่ก่อน
ไม่หลังกัน บุคคลนี้เรียก ว่า สมสีสี.

อรรถกถาสมสีสีบุคคล


วินิจฉัยในนิเทศแห่งสมสีสีบุคคล. สองบทว่า "อปุพฺพํ อจริมํ"
ได้แก่ ไม่ก่อนไม่หลัง อธิบายว่า พร้อมกันนั่นเอง. บทว่า "ปริยาทานํ"
ได้แก่ ความสิ้นไปรอบ. บทว่า "อยํ" ความว่า บุคคลนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสเรียกชื่อว่าสมสีสี. ก็สมสีสีบุคคลนี้มี 3 พวก คือ
1. อิริยาปถสมสีสี
2. โรคสมสีสี
3. ชีวิตสมสีสี.
บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลใดกำลังจงกรมอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว
บรรลุพระอรหัต ยังจงกรมอยู่นั่นแหละ ย่อมปรินิพพานเหมือนพระปทุมเถระ.
บุคคลใดกำลังยืนอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัตกำลังยืนอยู่นั่นแหละ
ย่อมปรินิพพานเหมือนพระติสสเถระผู้อยู่ในวิหารโกฏบรรพต. บุคคลใด
กำลังนั่งอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตกำลังนั่งนั่นแหละ ย่อมปรินิพ-
พาน. บุคคลใด กำลังนอนอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัตกำลังนอน
นั่นแหละ ย่อมปรินิพพาน. บุคคลทั้งหมดดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า อิริยาปถ-
สมสีสีบุคคล.

อนึ่ง บุคคลใด เกิดโรคอย่างหนึ่งแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนาภายในโรค
นั่นแหละ แล้วบรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพานด้วยโรคนั้นนั่นแหละ ท่านผู้นี้
ชื่อว่า โรคสมสีสีบุคคล.
ถามว่า บุคคลผู้ชื่อว่า ชีวิตสมสีสี เป็นไฉน ?
ตอบว่า คำว่า "สีสะ" มี 13 อย่าง คือ
1. ตัณหา ชื่อว่า ปลิโพธสีสะ
2. มานะ ชื่อว่า พันธนสีสะ
3. ทิฏฐิ ชื่อว่า ปรามาสสีสะ
4. อุทธัจจะ ชื่อว่า วิกเขปสีสะ
5. อวิชชา ชื่อว่า กิเลสสีสะ
6. ศรัทธา ชื่อว่า อธิโมกขสีสะ
7. วิริยะ ชื่อว่า ปัคคหสีสะ
8. สติ ชื่อว่า อุปัฏฐานสีสะ
9. สมาธิ ชื่อว่า อวิกเขปสีสะ
10. ปัญญา ชื่อว่า ทัสสนสีสะ
11. ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่า ปวัตตสีสะ
12. วิโมกข์ ชื่อว่า โคจรสีสะ
13. นิโรธ ชื่อว่า สังขารสีสะ.

บรรดาสีสะเหล่านั้น อรหัตมรรค ย่อมครอบงำอวิชชา คือ กิเลสสีสะ
จุติจิตย่อมครอบงำชีวิตนทรีย์ คือ ปวัตตสีสะ จิตที่ครอบงำอวิชชาย่อมไม่อาจ
เพื่อจะครอบงำชีวิตนทรีย์ได้ จุติจิตที่ครอบงำชีวิตนทรีย์ก็ไม่อาจเพื่อจะ

ครอบงำจิตที่มีอวิชชาได้ จิตที่ครอบงำอวิชชาก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตที่ครอบงำ
ชีวิตนทรีย์ก็เป็นอย่างหนึ่ง. สีสะทั้งสองอย่างนี้ของบุคคลใด ถึงความสิ้นไป
พร้อม ๆ กัน บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ชีวิตสมสีสี.
ถามว่า สีสะทั้ง 2 อย่างนี้ มีพร้อม ๆ กันได้อย่างไร ?
ตอบว่า เพราะมีพร้อม ๆ กันได้ด้วยวาระ. อธิบายว่า การออกจาก
มรรคย่อมมีในวาระใด วาระนั้นชื่อว่ามีพร้อม ๆ กัน คือว่า บุคคลใดตั้งอยู่
ในปัจจเวกขณญาณ 19 อย่าง คือ ปัจจเวกขณะในโสดาปัตติมรรค 5 อย่าง
ในสกทามิมรรค 5 อย่าง ในอนาคามิมรรค 5 อย่าง ในอรหัตตมรรค 4
อย่าง แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ จึงปรินิพพาน ความสิ้นไปแห่งสีสะทั้งสองอย่างนี้
จึงชื่อว่าพร้อม ๆ กัน เพราะความพร้อม ๆ กันด้วยวาระเหล่านั้น เพราะฉะนั้น
บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ชีวิตสมสีสี. ก็บุคคลนี้เท่านั้น พระผู้
มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในสมสีสีนิเทศนี้.
จบอรรถกถาสมสีสีบุคคล

[33]

ฐิตกัปปีบุคคล

บุคคลผู้ชื่อว่า ฐิตกัปปี เป็นไฉน ?

บุคคลนี้ พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และเวลาที่
กัปไหม้จะพึงมี กัปก็ไม่พึงไหม้ตราบเท่าที่บุคคลนี้ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งโสดา-
ปัตติผล บุคคลนี้เรียกว่า ฐิตกัปปี. บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรคแม้ทั้งหมด
ชื่อว่า ฐิตกปฺปี ผู้มีกัปตั้งอยู่แล้ว.