เมนู

มนสิการโกศล 10


พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงบอกอุคคหโกศล 7 อย่าง อย่างนี้แล้ว
จึงบอกมนสิการโกศล 10 อย่าง อย่างนี้คือ
1. อนุปุพฺพโต (โดยลำดับ)
2. นาติสีฆโต (โดยไม่รีบด่วน)
3. นาติสณิกโต (โดยไม่ช้าเกินไป)
4. วิกฺเขปปฏิพาหนโต (โดยการห้ามความฟุ้งซ่าน)
5. ปณฺณตฺติสมติกฺกมนโต (โดยการก้าวล่วงบัญญัติ )
6. อนุปุพฺพมุญฺจนโต (โดยการปล่อยลำดับ)
7. อปฺปนาโต (โดยอัปปนา)
8. 9. 10. ตโย จ สุตฺตนฺตา (โดยสุตตันตะ 3)

มนสิการโดยลำดับ


บรรดาโกศล 10 เหล่านั้น ข้อว่า อนุปุพฺพโต ความว่า พระ-
โยคาวจรพึงทำกรรมฐานนั้นไว้ในใจโดยลำดับ คือ ตั้งแต่การสาธยาย ไม่พึง
เว้นกรรมฐานหนึ่งไว้ในระหว่าง เพราะเมื่อมนสิการเว้นกรรมฐานหนึ่งไว้ใน
ระหว่าง จิตก็จะเหน็ดเหนื่อย ย่อมตกไปจากอารมณ์ เพราะความไม่บรรลุตาม
ใจชอบที่จะพึงได้ด้วยสามารถแห่งภาวนาสมบัติ ย่อมไม่ทำภาวนาให้สำเร็จ
เปรียบเหมือนบุรุษผู้ไม่ฉลาด ก้าวขึ้นบันได 32 ชั้น โดยข้ามไปขั้นหนึ่ง ใน
ระหว่าง ฉะนั้น.

มนสิการโดยไม่รีบด่วน


อนึ่ง แม้เมื่อมนสิการไปโดยลำดับ ก็ไม่พึงมนสิการโดยรีบด่วน
เพราะว่าเมื่อมนสิการโดยรีบด่วนเกินไป กรรมฐานย่อมถึงที่สุดอย่างเดียว แต่
ไม่แจ่มแจ้ง ทั้งไม่นำมาซึ่งคุณวิเศษ เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษเดินทาง 3 โยชน์
ไม่ได้กำหนดทางเบี่ยง และทางแยกไว้ เดินไปเดินมา โดยรวดเร็วแม้ทั้ง 7
ครั้ง ทางย่อมจะสิ้นไปเร็วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ต้องถามคนอื่นทุกครั้งจึง
จะเดินทางไปได้ เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรไม่พึงมนสิการโดยรีบด่วนเกินไป.

มนสิการโดยไม่ช้าเกินไป


ก็พระโยคาวจร มนสิการโดยไม่รีบด่วน ฉันใด พึงมนสิการโดยไม่
ชักช้าเกินไป ฉันนั้น. เพราะว่า เมื่อมนสิการโดยชักช้าเกินไป กรรมฐาน
ย่อมจะไม่ถึงที่สุด ทังไม่เป็นปัจจัยแก่การบรรลุคุณวิเศษ เปรียบเหมือนบุรุษ
ผู้ต้องการเดินทางไกล 3 โยชน์นั่นแหละ มัวแต่ชักช้าหยุดพักตามโคนไม้
เชิงเขา เป็นต้นในระหว่างทาง ทางก็ย่อมไม่ถึงการสิ้นไป ต้องเดินไป 2 - 3วัน
จึงจะถึงสุดทางได้.

มนสิการโดยห้ามความฟุ้งซ่าน


ข้อว่า วิกฺเขปปฏิพาหนโต ความว่า พึงห้ามจิตที่สละกรรมฐาน
ฟุ้งไปในอารมณ์ภายนอกมากมายเสีย เพราะเมื่อไม่ห้ามจิตไว้ เมื่อจิตฟุ้งไป
ภายนอก กรรมฐานย่อมเสื่อมสลายไป เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลเดินทางข้าม
เหว อันเป็นทางเดินได้คนเดียว ไม่กำหนดทางที่เหยียบ มัวเหลียวดูทางโน้น
ทางนี้ย่อมก้าวพลาด ทีนั้นเขาจะตกลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ เพราะฉะนั้น
พึงมนสิการ โดยการห้ามความฟุ้งซ่านเสีย.