เมนู

เพราะเหตุนั้น อายตนะมีจักขุเป็นต้น จึงชื่อว่า เป็นนิวาสถาน คือเป็น
ที่อยู่อาศัยของจิตและเจตสิกเหล่านั้น. อนึ่ง จิตแลเจตสิกเหล่านั้นเกลื่อนกล่น
ในอายตนะจักขุเป็นต้น เพราะอาศัยจักขุเป็นต้นนั้น และเพราะความที่มีรูป
เป็นต้นนั้นเป็นอารมณ์ มีอยู่ เพราะเหตุนั้น อายตนะมีจักขุเป็นต้น จึงชื่อว่า
เป็นอากร คือเป็นบ่อเกิดของจิตและเจตสิกเหล่านั้น. อนึ่ง จักขุเป็นต้น
ชื่อว่า เป็นที่ประชุม (สโมสรณ์) ของจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะเป็น
ที่ประชุมด้วยอำนาจเป็นวัตถุทวารและอารมณ์ในอายตนะนั้น ๆ. อนึ่ง อายตนะ
มีจักขุเป็นต้น เป็นถิ่นเกิดของจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะความเกิดขึ้นใน
อายตนะนั้นนั่นแหละ โดยความเป็นที่อาศัย (นิสสยปัจจัย) และเป็นอารมณ์
(อารัมมณปัจจัย ) ของจิตและเจตสิกเหล่านั้น. อนึ่ง อายตนะมีจักขุเป็นต้น
เป็นเหตุ (การณะ) ของจิต และเจตสิกเหล่านั้น เพราะความที่อายตนะมีจักขุ
เป็นต้นเหล่านั้นไม่มี จิตและเจตสิกก็หามีไม่.
ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า อายตนะ ด้วยเหตุแม้เหล่านั้น คือ เพราะ
อรรถว่า เป็นที่อยู่อาศัย เพราะอรรถว่า เป็นอากร เพราะอรรถว่า เป็นที่
ประชุม เพราะอรรถว่า เป็นถิ่นเกิด เพราะอรรถว่า เป็นเหตุ ด้วยประการ
ฉะนี้ เพราะฉะนั้น ว่าโดยอรรถตามที่กล่าวมา จักขุนั้นด้วย เป็นอายตนะด้วย
จึงชื่อว่า จักขวายตนะ ฯลฯ ธรรมเหล่านั้นด้วย เป็นอายตนะด้วย เพราะ
เหตุนั้น จึงชื่อว่า ธรรมายตนะ.
พึงทราบวินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้ โดยอรรถอย่างนี้ก่อน.

ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลักษณะ


ก็ข้อว่า โดยลักษณะ นั้น คือ พึงทราบวินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้
โดยลักษณะแห่งอาตนะมีจักขุเป็นต้น ก็แต่ลักษณะนั้นของอายตนะมีจักขุ

เป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในนิเทศแห่งรูปกัณฑ์ในหนหลัง
นั่นแหละ.

ว่าด้วยวินิจฉัยโดยความมีเพียงเท่านั้น


ข้อว่า โดยความมีเพียงเท่านั้น ได้แก่ โดยความมีจำนวนเพียง
เท่านั้น คำนี้ มีอธิบายว่า หากมีผู้สงสัยว่า ก็อายตนะแม้มีจักขุเป็นต้น ก็เป็น
ธรรมนั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์มิได้ตรัสว่า ธรรมอายตนะ เท่านั้น
แต่ตรัสอายตนะ 12 อย่าง ดังนี้ เพราะเหตุไร ?
ข้อนี้ ควรแก่ความสงสัยว่า ที่ตรัสไว้ 12 อย่าง เพราะทรงกำหนด
ทวารและอารมณ์ อันเป็นที่เกิดขึ้นแห่งวิญญาณกาย 6*
จริงอยู่ ในอายตนวิภังค์ มีประเภทอายตนะเหล่านั้น โดยกำหนด
ความเป็นทวารและความเป็นอารมณ์ของวิญญาณกาย 6 มีเพียงนี้เท่านั้น
เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า อายตนะมี 12 ด้วยว่า จักขายตนะนั่นแหละเป็น
ทวารเกิดขึ้นของวิญญาณกายซึ่งนับเนื่องในวิถีของจักขุวิญญาณ และรูปายตนะ
นั่นแหละก็เป็นอารมณ์ อนึ่ง อายตนะนอกนี้เป็นทวารเกิดขึ้นแก่วิญญาณกาย
นอกนี้ แต่อายตนะที่เป็นเอกเทศแห่งมนายตนะกล่าวคือ ภวังคจิตนั้นเองเป็น
ทวารเกิดขึ้นของวิญญาณกายที่ 6 และธรรมมายตนะที่ไม่ทั่วไปเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้น จึงตรัสอายตนะไว้ 12 เพราะกำหนดทวารเกิดขึ้นและอารมณ์ของ
วิญญาณกาย 6 ไว้ด้วยประการฉะนี้.
พึงทราบวินิจฉัยในอายตนะนั้นโดยความมีเพียงเท่านั้น อย่างนี้.
* วิญญาณกาย คือ กองแห่งวิญญาณมี 6 อย่าง