เมนู

อธิบายอัพยากตธรรม


บัดนี้ พระองค์ทรงประสงค์จะแสดงจำแนกบทอัพยากตธรรม จึงเริ่ม
คำว่า ธรรมอันเป็นอัพยากตะ เป็นไฉน ? เป็นต้น.
ในพระบาลีนั้น อัพยากตะมี 4 อย่าง คือ วิบาก กิริยา รูป
พระนิพพาน บรรดาอัพยากตะเหล่านั้น พระองค์ตรัสประสงค์เอาอัพยากตวิบาก
แม้ในอัพยากตวิบาก ก็ทรงประสงค์เอากุศลวิบาก แม้ในกุศลวิบากนั้น ก็ทรง
ประสงค์เอากามาวจรวิบาก แม้ในกามาวจรวิบาก ก็ทรงประสงค์เอาอเหตุกะ
แม้ในอเหตุกะ ก็ทรงประสงค์เอาปัญจวิญญาณ (วิญญาณ 5) แม้ในปัญจวิญ-
ญาณนั้นก็ทรงประสงค์เอาจักขุวิญญาณตามลำดับในทวาร แม้จักขุวิญญาณนั้น
เล่า ทรงประสงค์จะแสดงความเกิดขึ้นด้วยอำนาจกรรมปัจจัยที่ไม่ทั่วไปเท่านั้น
เว้นสาธารณปัจจัยทางทวารและอารมณ์เป็นต้น จึงตรัสพระดำรัสว่า เพราะ
กามาวจรกุศลกรรมอันตนทำแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตตฺตา (อันได้ทำไว้แล้ว) ได้แก่
เหตุที่ทำไว้แล้ว. บทว่า อุปฺปจิตตฺตา (ได้สั่งสมไว้แล้ว) ได้แก่ ทำให้เจริญ
ขึ้นแล้ว. บทว่า จกฺขุวิญฺญาณํ ความว่า ที่ชื่อว่า จักขุวิญญาณ เพราะอรรถว่า
เป็นวิญญาณแห่งจักษุที่มีเหตุสำเร็จแล้ว หรือว่าวิญญาณอันเป็นไปทางจักษุ
หรือว่าเป็นวิญญาณอันอาศัยในจักษุ แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้นข้างหน้าก็นัย
นี้แหละ.
ในวิญญาณ 5 เหล่านั้น จักขุวิญญาณมีการรู้รูปอาศัยจักขุประสาทเป็น
ลักษณะ (จกฺขุสนฺนิสฺสิตรูปวิชานนลกฺขณํ) มีอารมณ์เพียงรูปเป็นรส

(รูปมตฺตารมฺมณรสํ) มีความมุ่งต่อรูปเป็นปัจจุปัฏฐาน (รูปาภิมุขภาว-
ปจฺจุปฏฺฐานํ)
มีการไม่ปราศจากกิริยามโนธาตุซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์เป็นปทัฏฐาน
(รูปารมฺมณาย กิริยามโนธาตุยา อปคมนปทฏฺฐานํ).
โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ที่จะมา
ข้างหน้าก็มีการรู้เสียงเป็นต้นอาศัยโสตเป็นต้นเป็นลักษณะ มีอารมณ์สักแต่ว่า
เสียงเป็นต้นเป็นรส มีความมุ่งต่อเสียงเป็นต้นเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการไม่
ปราศจากกิริยามโนธาตุที่มีอารมณ์มีเสียงเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน.
ในอัพยากตวิบากนี้ มีบทธรรมตามลำดับ 10 บท ว่าโดยการถือเอา
บทที่ยังมิได้ถือเอาก็ได้ 7 บท. ในบรรดา 7 บทเหล่านั้น บทที่จำแนกไม่ได้
มี 5 บท บทที่จำแนกได้มี 2 บท บรรดาธรรมที่จำแนกได้นั้น จิตถึงการ
จำแนกให้ที่ทั้ง 2 คือด้วยสามารถแห่งผัสสปัญจกะ และด้วยสามารถแห่งอินทรีย
เวทนาถึงการจำแนกในที่ทั้ง 3 คือด้วยสามารถแห่งผัสสปัญจกะ องค์ฌาน และ
อินทรีย์. แม้กองธรรมเหล่านี้ก็มี 3 เหมือนกัน เยวาปนกธรรมมีหนึ่ง คือ
มนสิการเท่านั้น.
ในนิทเทสวาร ตรัสจักขุวิญญาณว่า ปณฺฑรํ (ผ่องใส) โดยวัตถุ.
จริงอยู่ กุศล ชื่อว่า ปณฺฑรํ (ผ่องใส) เพราะความที่ตนบริสุทธิ์. อกุศล
ก็ชื่อว่า ปณฺฑรํ (ผ่องใส) เพราะผลอันไหลออกจากภวังค์ วิบากก็ชื่อว่า
ปฏฺฑรํ (ผ่องใส) เพราะผ่องใสโดยวัตถุ.
ในนิทเทสเอกัคคตาแห่งจิต ตรัสบทเดียวเท่านั้นว่า จิตฺตสฺส ฐิติ
(ความตั้งอยู่แห่งจิต) เพราะจิตแม้นี้ทุรพลในอัพยากตวิบากนี้ ย่อมได้เพียงตั้ง
อยู่เป็นไปเท่านั้น ย่อมไม่อาจเพื่อถึงความเป็นสัณฐิติ (ความดำรงอยู่.) อวัฏฐิติ
(ความมั่นอยู่) ในสังคหวาร ไม่ทรงยกองค์ฌานและองค์มรรคขึ้นแสดง เพราะ

เหตุไร ? เพราะธรรมดาฌานมีวิตกเป็นธรรมต่ำ ธรรมดามรรคก็มีเหตุเป็น
ธรรมต่ำ องค์ฌานย่อมไม่ได้ในจิตที่ไม่มีวิตกตามปกติ องค์มรรคก็ไม่ได้ใน
อเหตุกจิต (จิตไม่ประกอบด้วยเหตุ) เหมือนกัน เพราะฉะนั้น องค์ฌานและ
องค์มรรคแม้ทั้ง 2 พระองค์ จึงไม่ทรงยกขึ้นแสดงในจักขุวิญญาณนี้ ก็สังขาร-
ขันธ์ในจักขุวิญญาณนี้เป็นธรรมประกอบด้วยองค์ 4 (ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา
ชีวิตินทรีย์) นั่นแหละจึงทรงจำแนกไว้. สุญญตวารเป็นไปตามปกตินั่นแหละ
แม้นิทเทสแห่งโสตวิญญาณเป็นต้น พึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน.
ก็ในวิญญาณ 5 นั้น มีความแปลกกันอย่างเดียว คือ ในจักขุวิญญาณ
เป็นต้น ทรงจำแนกอุเบกขา ในกายวิญญาณทรงจำแนกสุข. แม้ความต่างกัน
นั้นก็พึงทราบว่า ย่อมมีด้วยอำนาจการกระทบ เพราะในทวาร 4 มีจักขุทวาร
เป็นต้น อุปาทารูปย่อมกระทบกับอุปาทารูปเท่านั้น ครั้นเมื่ออุปาทารูปนั่นแหละ
กระทบอยู่ซึ่งอุปาทารูป ความเสียดสีเกิดจากการกระทบย่อมไม่มีกำลัง ย่อม
เป็นเพียงถูกกันเท่านั้น ย่อมไม่กระทบกันหนัก เหมือนเวลาที่เขาวางปุยนุ่น
อันเกิดแต่ฝ้าย 4 อันไว้บนทั่ง 4 อัน แล้วเอาปุยนุ่นนั่นแหละกระทบกัน
ฉะนั้น เวทนาจึงตั้งอยู่ในฐานะกลาง (อุเบกขา) แต่ในกายทวาร อารมณ์
ที่เป็นมหาภูตรูปในภายนอกกระทบกายปสาทอันเป็นภายในแล้วกระทบมหาภูต-
รูปทั้งหลายที่มีปสาทรูปเป็นปัจจัย เหมือนบุคคลวางปุยนุ่นบททั่งแล้วเอาค้อน
ทุบ ค้อนก็เลยปุยนุ่นไปกระทบทั่ง เพราะการเสียดสีเป็นสภาพมีกำลัง ข้อนี้
ฉันใด การกระทบมหาภูตรูปกับมหาภูตรูปเป็นการเสียดสีที่มีกำลัง ฉันนั้น
เหมือนกัน. กายวิญญาณที่สหรคตด้วยสุข ย่อมเกิดขึ้นในอิฏฐารมณ์ กายวิญญาณ
ที่สหรคตด้วยทุกข์ย่อมเกิดขึ้นในอนิฏฐารมณ์.

ก็วัตถุทวารและอารมณ์ของจิตทั้ง 5 เหล่านี้ ย่อมเป็นของเกี่ยวข้องกัน
โดยเฉพาะ ชื่อว่า การก้าวก่ายกันด้วยวัตถุเป็นต้น ในที่นี้ย่อมไม่มี เพราะ
จักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก กระทำจักขุปสาทให้เป็นวัตถุ (ที่อาศัยเกิด)
แล้วยังทัสสนกิจ (กิจคือการเห็น) ให้สำเร็จในรูปารมณ์อันมีสมุฏฐาน 4 ใน
อิฏฐารมณ์ และในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ดำรงอยู่ในจักขุทวารสำเร็จผล. โสต-
วิญญาณเป็นต้น ทำโสตปสาทเป็นต้นให้เป็นวัตถุแล้วให้สำเร็จสวนกิจฆายนกิจ
สายนกิจ และผุสนกิจในอารมณ์มีเสียงเป็นต้นที่เป็นอิฏฐารมณ์และอิฏฐมัช-
ฌัตตารมณ์ ดำรงอยู่ในโสตทวารเป็นต้นสำเร็จผล. ก็ในอารมณ์เหล่านั้น เสียงมี
สมุฏฐาน 2 เท่านั้น.

อธิบายมโนธาตุกุศลวิบาก


พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งมโนธาตุต่อไป.
ธาตุ คือ มโนนั่นแหละ ชื่อว่า มโนธาตุ ด้วยอรรถว่า สูญจาก
สภาวะและมิใช่สัตว์. มโนธาตุนั้นมีการรู้รูปารมณ์เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุ-
วิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ (จกฺขุวิญฺญาณาทีนํ อนนฺตรรูปาทิวิชานน-
ลกฺขณา)
มีการรับอารมณ์ มีรูปเป็นต้นเป็นรส (รูปาทีนํ สมฺปฏิจฺฉนฺนรสา)
มีภาวะเช่นการรับอารมณ์อย่างนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน (ตถาภาวปจฺจุปฏฐานา)
มีการไม่ปราศจากจักขุวิญญาณเป็นปทัฏฐาน (จกฺขุวิญฺญาณา อปคมนปทฏฺ-
ฐานา)
ธัมมุทเทสในมโนธาตุนี้มี 12 บท ว่าด้วยการถือเอาบทที่ยังมิได้ถือเอา
ก็ได้ 9 บท. ใน 9 บทนั้น 7 บทจำแนกไม่ได้ 2 บทจำแนกได้. เยวาปนก-
ธรรมมี 2 คือ อธิโมกข์ และมนสิการ.
นิทเทสแห่งวิตก พระองค์ทรงกำหนดไว้ถึงอภินิโรปนะ (คือการยกจิต
ขึ้นสู่อารมณ์) ก็เพราะจิต (อัพยากตวิบาก) ดวงนี้เป็นกุศลก็มิใช่ เป็นอกุศล