เมนู

อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี


อธิบายนิกเขปกัณฑ์


โดยลำดับแห่งคำมีอาทิว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้ เพียงเท่านี้
กุศลติกะย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พิสดาร ด้วยนัยกล่าวคือการ
จำแนกบทธรรมมีกุศลเป็นต้นทั้งหมด ก็นัยกล่าวคือการจำแนกบทแม้แห่ง
กุศลติกะนี้ใดที่ตรัสไว้แล้ว ก็นัยนี้นั้นแหละเป็นนัยแห่งการจำแนกต่าง ๆ ของ
ติกะและทุกะที่เหลือ อันบัณฑิตทั้งหลาย อาจเพื่อกำหนดนัยกล่าวคือการจำแนก
ต่าง ๆ ในติกะและทุกะทั้งหมดตามลำดับมีอาทิว่า " ธรรมสัมปยุตด้วยสุขเวทนา
เป็นไฉน ? ในสมัยใด กามาวจรกุศลจิต สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วย
ญาณ มีรูปเป็นอารมณ์ ก็หรือว่าเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารัมณ์ ฯลฯ ก็หรือ
ว่า ในสมัยนั้น นามธรรมแม้อื่นใดที่อิงอาศัยเกิดขึ้น เว้นเวทนาขันธ์ สภาว-
ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า สัมปยุตด้วยสุขเวทนา" ดังนี้ เหมือนในการจำแนก
กุศลติกะนี้ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น เพื่อทรงสรุปความเทศนาอันพิสดารนั้น แล้ว
ทรงแสดงจำแนกธรรมหมวดติกะ และทุกะทั้งหมดด้วยนัยที่ไม่ย่อเกินไปและ
ไม่พิสดารเกินไปอีกอย่างหนึ่ง จึงทรงเริ่มนิกเขปกัณฑ์ว่า กตเม ธมฺมา
กุสลา
(ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน ?) ดังนี้.
จริงอยู่ จิตตุปปาทกัณฑ์ (ที่กล่าวแล้ว) เป็นเทศนาพิสดาร แต่อรรถ-
กถากัณฑ์เป็นเทศนาย่อ ก็นิกเขปกัณฑ์นี้ เทียบกับจิตตุปปาทกัณฑ์ นับว่าเป็น
เทศนาย่อ เทียบกับอรรถกถากัณฑ์ ก็เป็นเทศนาพิสดาร เพราะฉะนั้น นิกเขป-
กัณฑ์นี้จึงเป็นเทศนาที่ไม่ย่อเกินไปและไม่พิสดารเกินไป กัณฑ์นี้นั้น บัณฑิตพึง

ทราบว่า ชื่อ นิกเขปกัณฑ์ เพราะทรงสรุปเทศนาพิสดารแสดงไว้บ้าง ด้วย
อำนาจแห่งเหตุที่กล่าวไว้ในหนหลังบ้าง
จริงอยู่ คำนี้ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วว่า
มูลโต ขนฺธโต จาปิ ทฺวารโต จาปิ ภูมิโต
อตฺถโต ธมฺมโต จาปิ นามโต จาปิ ลิงฺคโต
นิกฺขิปิตฺวา เทสิตตฺตา นิกฺเขโปติ ปวุจฺจติ

ท่านเรียกว่า นิกเขปะ เพราะแสดง
สรุปไว้โดยมูลบ้าง โดยขันธ์บ้าง โดยทวาร
บ้าง โดยภูมิบ้าง โดยอรรถบ้าง โดยธรรม
บ้าง โดยนามบ้าง โดยลิงค์บ้าง
ดังนี้.
ก็นิกเขปกัณฑ์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสรุปโดยมูล ด้วยนัยมี
อาทิว่า กุศลมูล 3 ทรงแสดงสรุปโดยขันธ์ด้วยนัยมีอาทิว่า เวทนาขันธ์
สัมปยุตด้วยกุศลมูลนั้น
ทรงแสดงสรุปโดยทวารด้วยนัยมีอาทิว่า กายกรรม
มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน
เพราะกรรมเป็นไปทางกายทวารเรียกว่า
กายกรรม ทรงแสดงสรุปโดยภูมิด้วยนัยโดยอาทิว่า ในภูมิอันเป็นสุข คือ
กามาวจร พึงทราบชื่อว่า นิกเขปกัณฑ์ ที่พระองค์ทรงแสดงสรุปเนื้อความ
เป็นต้น เพราะแสดงด้วยสามารถแห่งอรรถ ธรรม ลิงค์ และนามในที่นั้น ๆ.

ว่าด้วยนิทเทสกุศลติกะที่ 1


ในพระบาลีนั้นพึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งกุศลบทก่อน.
คำว่า 3 เป็นคำกำหนดจำนวน. สภาวธรรมที่ชื่อว่า กุศลมูล ด้วย
อรรถว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลด้วย เป็นมูลด้วย หรือว่า เป็นมูล ด้วย
อรรถว่า เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นแดนเกิด เป็นชนก เป็นสมุฏฐาน และ
เป็นตัวให้เกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.