เมนู

กถาแสดงธัมมุทเทสวารในบทอกุศล


อธิบายอกุศลจิตดวงที่ 1


บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะจำแนกแสดงบทอกุศล จึงทรง
เริ่มพระดำรัสว่า กตเม ธมฺมา อกุสลา (ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน)
ดังนี้เป็นต้น.
ในคำว่าอกุศลเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบประเภทวาระมีการกำหนด
ธรรมเป็นต้น และการวินิจฉัยเนื้อความแห่งบทที่มาแล้วในหนหลัง โดยนัยที่
กล่าวแล้วนั่นแหละ ก็ข้าพเจ้าจักพรรณนาบทที่เพียงต่างกันในที่นั้น ๆ เท่านั้น
ในอธิการแห่งอกุศลนั้น จะวินิจฉัยในการกำหนดสมัยก่อน เพราะอกุศลไม่ต่าง
ภูมิกันเหมือนกุศล ฉะนั้น อกุศลนี้แม้เป็นกามาวจรอย่างเดียว พระองค์ก็มิได้
ตรัสว่า เป็นกามาวจร.

วินิจฉัยคำว่าทิฏฐิคตสัมปยุต


พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ นี้ต่อไป.
ทิฏฐินั่นแหละชื่อว่า ทิฏฐิคตะ เหมือนในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า
คูถคตํ (คูถ) มุตฺตคตํ (มูตร) ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่ชื่อว่า ทิฏฐิคตะ
เพราะอรรถว่า ทิฏฐิคตะนี้เป็นเพียงการเป็นไปของทิฏฐิเท่านั้น เพราะไม่มี
สิ่งที่ควรรู้ หรือเพราะไม่มีสิ่งที่ควรดำเนินไป. ที่ชื่อว่า ทิฏฐิคตสัมปยุต
เพราะอรรถว่า สัมปยุตด้วยทิฏฐินั้น.
ในทิฏฐิคตสัมปยุตจิตนั้น บัณฑิตพึงทราบความเกิดขึ้น แห่งความ
เห็นผิด กล่าวคือทิฏฐิคตะนี้ ด้วยเหตุทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ

อสทฺธทมสวนํ การฟังแต่อสัทธรรม
อกลฺยาณมิตฺตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ
เป็นต้น.
อโยนิโสมนสิกาโร การทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย.
จริงอยู่ ความเห็นอันนั่น พึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟังเว้นจาก
ความใคร่ครวญก้าวล่วงความเป็นกลาง มีมานะหลายอย่างเป็นประธานแห่ง
อสัทธรรมที่ประกอบด้วยวาทะอันผิดเหล่านั้น ด้วยความเป็นผู้มีอกัลยาณมิตร
กล่าวคือความเป็นผู้ซ่องเสพ มิตรชั่วผู้มีทิฏฐิวิบัติเหล่านั้น ด้วยไม่ต้องการเห็น
พระอริยะทั้งหลาย และสัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ด้วยความเป็น
ผู้ไม่ฉลาดในอริยธรรมเเละสัปปุริสธรรมอันต่างด้วยสติปัฏฐาน 4 เป็นต้น
ด้วยความไม่มีวินัยกล่าวคือการแตกแห่งสังวรในอริยธรรม และสัปปุริสธรรม
อันมีปาฏิโมกขสังวร อินทรียสังวร สติสังวร ญาณสังวร และปหานสังวร
ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคายด้วยเหตุเหล่านั้นนั่นแหละ
อันตนอบรมแล้ว และเพราะความเป็นผู้ขวนขวายในมงคลตื่นข่าวเป็นต้น.
ก็พึงทราบความที่จิตนี้เป็นอสังขาร (ไม่มีการชักจูง) โดยนัยที่กล่าวแล้วใน
หนหลังนั่นแหละ.

ว่าด้วยธัมมุทเทสมีผัสสะเป็นต้น


พึงทราบวินิจฉัยในวาระแห่งธัมมุทเทส (ข้อธรรม) ต่อไป.