เมนู

เป็นดุจอยู่ในปากงูสัตถมุขะขบเอา เพราะ
ความที่วาโยธาตุเสียไป ฉันนั้น.

รูปที่ชื่อว่า มหาภูตะ เพราะเป็นของวิการคือเปลี่ยนแปลงใหญ่ด้วย
ประการฉะนี้.
ข้อว่า เพราะเป็นของใหญ่ที่มีอยู่ จริงอยู่ รูปเหล่านั้น ชื่อว่า
เป็นของใหญ่ เพราะเป็นของที่ต้องประดับประคองด้วยความเพียรใหญ่ และที่
ชื่อว่า มีอยู่ เพราะเป็นของที่ปรากฏมีอยู่ เพราะฉะนั้น รูปจึงชื่อว่า มหาภูตะ
เพราะเป็นของใหญ่ที่มีอยู่. มหาภูตรูปเป็นรูปใหญ่ ด้วยเหตุเป็นของใหญ่เป็นต้น
ด้วยประการฉะนี้.
คำว่า จตุนฺนํ จ มหาภูตานํ อุปาทาย รูปํ (และรูปที่อาศัย
มหาภูตรูป 4) นี้เป็นสามีวิภัตติ ใช้ในอรรถทุติยาวิภัตติ (ให้แปลว่าอาศัยซึ่ง
มหาภูตรูป 4) อธิบายว่า รูปอาศัยอิงอาศัยไม่ปล่อยมหาภูตทั้ง 4 เป็นไป.
บทว่า อิทํ วุจฺจติ สพฺพํ รูปํ (นี้เรียกว่ารูปทั้งหมด) ความว่า
รูปนี้มีประเภท 27 คือ มหาภูตรูป 4 อุปาทายรูป 23 ตามที่ยกขึ้นแสดง
โดยลำดับแห่งบทนี้ ชื่อว่า รูปทั้งหมด.

อรรถกถาแสดงมาติการูปกัณฑ์


ว่าด้วยเอกมาติกา


บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะแสดงรูปนั้นโดยพิสดาร เมื่อ
จะทรงตั้งมาติกาด้วยการสงเคราะห์รูป 11 หมวด มีรูปหมวดหนึ่งเป็นต้น
จึงตรัสว่า สพฺพํ รูปํ น เหตุ (รูปทั้งหมดมิใช่เหตุ) เป็นต้น.

ในพระบาลีเหล่านั้น ก็บทว่า สพฺพํ รูปํ นี้ บัณฑิตพึงประกอบ
กับบททั้งปวงอย่างนี้ว่า สพฺพํ รูปํ น เหตุ สพฺพํ รูปํ อเหตุกํ (รูป
ทั้งหมดไม่ใช่เหตุ รูปทั้งหมดไม่มีเหตุ) ดังนี้. บททั้งหมดที่ทรงตั้งไว้ 43 บท
มีคำว่า น เหตุ (มิใช่เหตุ) เป็นต้น ทรงยกขึ้นแสดงแล้ว.
บรรดาบท 43 เหล่านั้น บท 40 โดยลำดับ ทรงถือเอาแต่มาติกา
ตั้งไว้ 3 บทสุดท้ายนอกจากมาติกา เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบพระบาลี
ในสังคหะ (สงเคราะห์) ที่หนึ่งอย่างนี้ก่อน ในสังคหะที่ 2 เป็นต้นก็เหมือน
อย่างนั้น.

ว่าด้วยทุกรูป คือ รูปหมวด 2


บรรดาสังคหะเหล่านั้น มีนัยดังต่อไปนี้.
สังคหะที่ 2 ก่อน รูปหมวด 2 มี 104 ทุกะ ในทุกะ 104 เหล่านั้น
ทุกะ 14 จนเบื้องต้น มีอาทิว่า อตฺถิ รูปํ อุปาทา อตฺถิ รูปํ โน อุปาทา
(รูปเป็นอุปาทาก็มี รูปเป็นอนุปาทาก็มีอยู่) ชื่อว่า ปกิณกทุกะ เพราะไม่มี
ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน.
ทุกะต่อจากนั้น 25 ทุกะ มีคำอาทิว่า อตฺถิ รูปํ จกฺขุสมฺผสฺสสฺส
วตฺถุ
(รูปเป็นที่อาศัยของจักขุสัมผัสก็มี) ชื่อว่า วัตถุทุกะ เพราะความ
เป็นไปด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาวัตถุและอวัตถุ. ต่อจากนั้น ทุกะ 25 มี
อาทิว่า อตฺถิ รูปํ จกฺขุสมฺผสฺสสฺส อารมฺมณํ (รูปเป็นอารมณ์ของ
จักขุสัมผัสก็มี) ชื่อว่า อารัมมณทุกะ เพราะความเป็นไปด้วยอำนาจแห่งการ
พิจารณาถึงอารมณ์และอนารมณ์. ต่อจากนั้นทุกะ 10 มีอาทิว่า อตฺถิ รูปํ
จกฺขายตนํ
(รูปเป็นจักขายตนะก็มี) ชื่อว่า อายตนทุกะ เพราะความเป็นไป
ด้วยอำนาจแห่งความพิจารณาอายตนะและอนายตนะ ต่อจากนั้น ทุกะ 10