เมนู

อธิคมนิทาน



ว่าด้วยเรื่องสุเมธดาบส



ได้ยินว่า ในที่สุดแห่งสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปถอยไปแต่ภัทรกัปนี้
มีพระนคร ชื่อว่า อมรวดี พราหมณ์ ชื่อว่า สุเมธะ เป็นผู้เกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย
คือเป็นผู้ถือกำเนิดบริสุทธิ์ดีแล้วจากมารดาและบิดา เป็นผู้อันใคร ๆ ไม่ดูหมิ่น
ไม่รังเกียจ ด้วยการกล่าวถึงชาติตระกูล จนถึง 7 ชั่วตระกูล เป็นผู้มีรูปงาม
น่าดู นำมาซึ่งความเลื่อมใส ประกอบด้วยวรรณะและทรวดทรงงดงาม อาศัย
อยู่ในพระนครอมรวดีนั้น. พราหมณ์สุเมธะนั้นมิได้ทำการงานอื่น นอกจาก
เรียนศิลปะของพราหมณ์เท่านั้น. ในเวลาที่เขายังเป็นเด็กนั่นแหละ. มารดา
บิดาได้ทำกาละเสียแล้ว. ครั้งนั้น อำมาตย์ชื่อว่า ราสิวัฒกะ ได้นำบัญชีทรัพย์สิน
มาเปิดห้องอันเต็มไปด้วยทองคำ เงิน แก้ว มณี และแก้วมุกดาเป็นต้น แล้ว
บอกทรัพย์จนถึงชั่ว 7 ตระกูลว่า ดูก่อนกุมาร ทรัพย์เป็นของมีอยู่แห่ง
มารดาของท่านมีประมาณเท่านี้ ทรัพย์อันเป็นของมีอยู่แห่งบิดา ปู่ ย่า ของ
ท่านมีประมาณเท่านี้ เป็นต้นแล้วกล่าวว่า ท่านจงใช้สอยทรัพย์นั้น ดังนี้.
สุเมธบัณฑิต คิดว่า ปิยชนทั้งหลายของเรามีบิดาและปู่เป็นต้น
รวบรวมทรัพย์นี้ไว้แล้วพากันไปปรโลก มิได้ถือเอาแม้กหาปณะหนึ่งไป ส่วน
เราจะทำเหตุที่ให้ถือเอาไปได้จึงจะสมควร ดังนี้ จึงกราบทูลแด่พระราชา
แล้วให้ตีกลองประกาศในพระนคร ให้ทานแก่มหาชนแล้ว บวชเป็นดาบส.
บัณฑิตพึงกล่าวกถาว่าด้วยสุเมธดาบสไว้ที่นี้.
จริงอยู่ เรื่องสุเมธดาบสนี้ ท่านกล่าวไว้ในพุทธวงศ์ (ทีปังกรกถา
ที่หนึ่ง) ว่า

ในสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป มีพระ-
นคร ชื่อว่าอมรวดี เป็นนครน่าชม น่ารื่นรมย์
ประกอบด้วยข้าวน้ำสมบูรณ์ ไม่ว่างเว้นจาก
เสียง 10 ประการ คือ เสียงช้าง เสียงม้า
เสียงกลอง เสียงสังข์ เสียงรถ เสียงพิณ
เสียงตะโพน เสียงกังสดาล เสียงบัณเฑาะว์
เสียงเรียกมาบริโภคข้าวน้ำว่า พวกท่าน
จงกิน จงดื่มเถิด เมืองนั้นถึงพร้อมด้วยคุณ
ลักษณะทั้งปวง เข้าถึงความใคร่ พอใจ
ทุกอย่าง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ
ขวักไขว่ไปด้วยชนต่าง ๆ เป็นเมืองที่สำเร็จ
แล้วดังเทพนครเป็นที่อยู่ของผู้มีบุญทั้งหลาย
เราเป็นพราหมณ์ นามว่า สุเมธ ในนคร
อมรวดี สั่งสมทรัพย์ไว้หลายโกฏิ มีสมบัติ
มากมาย เป็นผู้คงแก่เรียน เป็นผู้ทรงมนต์
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งไตรเพท เป็นผู้สำเร็จวิชา
ทายลักษณะ และคัมภีร์อิติหาสอันสมบูรณ์
ในครั้งนั้น เรานั่งอยู่ในที่ลับได้คิดอย่างนี้ว่า
ขึ้นชื่อว่าการเกิดในภพใหม่เป็นทุกข์
การแตกทำลายของร่างกายก็เป็นทุกข์ การ
ตายด้วยความหลงก็เป็นทุกข์ การถูกชรา
ย่ำยีก็เป็นทุกข์.

ก็ในกาลนั้น เรามีความเกิดเป็น
ธรรมดา มีความชราเป็นธรรมดา มีความ
เจ็บไข้เป็นธรรมดา จักแสวงหาพระนิพพาน
อันไม่แก่ไม่ตาย อันเป็นแดนเกษม ไฉนหนอ
เราพึงเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในชีวิต ไม่ต้อง
การ พึงละกายเปื่อยเน่านี้ อันเต็มไปด้วย
ซากศพต่าง ๆ ไป ทางนั้นอันใคร ๆ ไม่พึง
อาจดำเนินไปได้เพราะไม่มีเหตุหรือ ทางนั้น
เพื่อความหลุดพ้นจากภพ.
เมื่อมีความเจริญ ความเสื่อมก็จำ
ต้องปรารถนา เปรียบเหมือนเมื่อมีความ
ทุกข์ แม้ชื่อว่าความสุขก็ย่อมมี ฉะนั้น.
เมื่อไฟ 3 กองมีอยู่ นิพพาน (ความ
ดับไฟ) ก็จำต้องปรารถนา เปรียบเหมือน
เมื่อมีความร้อน ชื่อว่าความเย็นก็ย่อมมี
ฉะนั้น.
ความเกิดมีอยู่ ก็จำต้องปรารถนา
ความไม่เกิด เปรียบเหมือนเมื่อมีความชั่ว
แม้ความดีก็ย่อมมี ฉะนั้น.
เมื่อสระน้ำอมฤตอันเป็นสถานที่
ชำระกิเลสมีอยู่ แต่บุคคลนั้นไม่แสวงหา

สระนั้น นั่นมิใช่เป็นความผิดของสระอมฤต
นั้น เปรียบเหมือนบุรุษตกหลุมคูถ เห็นสระ
มีน้ำเต็มแล้วไม่ไปหาสระ จะไปโทษสระ
นั้นไม่ได้ ฉะนั้น.
บุคคลผู้ถูกกิเลสกลุ้มรุมแล้ว เมื่อ
หนทางอันปลอดภัยมีอยู่ แต่ไม่แสวงหา
ทางนั้น นั่นมิใช่ความผิดของทางนั้น
เปรียบเหมือนบุรุษถูกข้าศึกล้อมไว้ เมื่อทาง
สำหรับจะหนีไปมีอยู่ แต่ไม่หนีไปจะโทษ
ทางนั้นไม่ได้ ฉะนั้น.
บุคคลมีทุกข์ ถูกพยาธิคือกิเลส
เบียดเบียนรอบด้าน ไม่แสวงหาอาจารย์
นั่นมิใช่ความผิดของอาจารย์ เปรียบเหมือน
บุรุษผู้ป่วยไข้ เมื่อหมอมีอยู่ แต่ไม่ให้รักษา
เยียวยา จะโทษหมอนั้นไม่ได้ ฉะนั้น.
เราพึงเป็นผู้ไม่อาลัย ไม่ต้องการ
พึงละทิ้งกายอันเปื่อยเน่า อันสะสมซึ่งซาก-
ศพต่าง ๆ นี้ไปเถิด เปรียบเหมือนบุรุษแก้
ห่อซากศพผูกไว้ที่คออันน่ารังเกียจไป ก็จะ
พึงมีความสุข มีเสรี มีอำนาจ ตามลำพัง
ตนเอง ฉะนั้น.

เราจักทิ้งกายนี้ อันเต็มด้วยซากศพ
ต่าง ๆ ไป ดุจถ่ายอุจจาระไว้ในส้วม เปรียบ
เหมือนบุรุษและสตรีถ่ายมูตรคูถไว้ในที่ถ่าย
แล้วไป ไม่อาลัย ไม่ต้องการ ฉะนั้น.
เราจักละกายนี้ซึ่งมี 9 ช่อง มีปฏิกูล
ไหลออกเป็นนิตย์ไป ดุจเจ้าของเรือทิ้งเรือ
เก่าคร่ำคร่า เปรียบเหมือนเจ้าของเรือทิ้งเรือ
ที่ทรุดโทรม หักพัง ที่รั่วไป ไม่อาลัย ไม่
ต้องการ ฉะนั้น.
เราจักละกายนี้ อันเป็นดังมหาโจร
ไป เพราะกลัวแต่การทำลายตระกูล เปรียบ
เหมือนบุรุษเดินมากับพวกโจรแล้วทิ้งพวก
โจรไป เพราะเห็นภัยคือการทำลายสิ่งของ
ฉะนั้นเถิด.
ครั้นเราคิดอย่างนี้แล้ว จึงให้ทรัพย์
หลายร้อยโกฏิแก่ชนทั้งหลาย ทั้งที่มีที่พึ่ง
และไม่มีที่พึ่งแล้วเข้าไปสู่หิมวันต์ ในที่ไม่
ไกลหิมวันต์มีภูเขา ชื่อว่า ธารมิกบรรพต
เราสร้างอาศรมไว้ดีแล้ว บรรณศาลาก็มุงบัง
ไว้ดีแล้ว เราสร้างที่จงกรมปราศจากโทษ
5 ประการ ประกอบด้วยคุณ 8 ประการ
อันเป็นที่นำมาซึ่งกำลังแห่งอภิญญา เราละ

ผ้าสาฎกอันประกอบด้วยโทษ 12 ประการ
ในที่นั้นนุ่ง ห่ม ผ้าคากรองอันประกอบด้วย
คุณ 12 ประการ เราละบรรณศาลาอัน
เกลื่อนกล่นด้วยโทษ 8 ประการ เข้าอาศัย
โคนไม้อันประกอบด้วยคุณ 10 ประการ
เราละข้าวเปลือกที่เขาหว่านปลูกไว้ ถือเอา
ผลไม้ที่หล่นตามแต่จะได้ ซึ่งประกอบด้วย
คุณเป็นอเนกประการ เราได้ตั้งความเพียร
ในการนั่ง การยืน และการจงกรมภายใน
สัปดาห์ ก็บรรลุถึงกำลังแห่งการอภิญญา
ดังนี้.
บรรดาคาถาเหล่านั้น พระบาลีว่า อสฺสโม สุกโต มยฺหํ ปณฺณสาลา
สุมาปิตา
(แปลว่า เราสร้างอาศรมไว้ดีแล้ว บรรณศาลาเราก็มุงบังไว้ดีแล้ว) นี้
ความว่า สุเมธบัณฑิตผู้ออกไป ด้วยคิดว่า เราจักบวช ดังนี้ ท่านกล่าวไว้
เหมือนอาศรม บรรณศาลา และที่จงกรมนั้น ท่านสร้างด้วยมือของตนเอง.
แต่ในพระบาลีนั้น พึงทราบเนื้อความดังนี้ว่า
ก็พระมหาสัตว์หยั่งลงสู่หิมวันต์แล้ว คิดว่า วันนี้เราจักเข้าไปสู่บรรพต
ชื่อว่า ธรรมิก ดังนี้. ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทรงทอดพระเนตรเห็น
สุเมธบัณฑิตผู้ออกไปด้วยคิดว่า เราจักบวช ดังนี้ จึงตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตร
มาตรัสสั่งว่า สุเมธบัณฑิตนี้ออกไปแล้วด้วยคิดว่า เราจักบวช ดังนี้ ดูก่อนพ่อ
พ่อจงไปสร้างที่สำหรับอยู่แก่พระมหาสัตว์เถิด วิสสุกรรมเทพบุตรนั้น รับคำ
ของท้าวเธอแล้วก็ไปนิรมิตอาศรมบทอันน่ารื่นรมย์ บรรณศาลาอันคุ้มครอง
ดีแล้ว และที่จงกรมอันเป็นที่พอใจ.

ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายเอาอาศรมบทนั้นอันสำเร็จด้วย
บุญญานุภาพของตน ในกาลนั้น จึงตรัสว่า
ดูก่อนสารีบุตร อาศรมเราสร้างไว้
ดีแล้ว บรรณศาลาเราก็สร้างไว้ดีแล้ว ใกล้
ธรรมิกบรรพตนั้น เราสร้างที่จงกรมซึ่งเว้น
จากโทษ 15 อย่าง ไว้ที่อาศรมบทนั้น.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า สุกโต มยฺหํ แปลว่า เราสร้างไว้ดีแล้ว.
คำว่า ปณฺณสาลา สุมาปิตา ความว่า แม้ศาลาที่มุงด้วยใบไม้ก็ได้ชื่อว่า
เป็นศาลาอันเราสร้างดีแล้ว

ว่าด้วยที่จงกรมมีโทษ 5 อย่าง



คำว่า ปญฺจโทสวิวชฺชิตํ (เว้นจากโทษ 5 อย่าง) ความว่า ขึ้น
ชื่อว่า โทษแห่งที่จงกรมเหล่านั้นมี 5 อย่าง คือ
1. เป็นที่แข็งและขรุขระ (ถทฺธวิสมตา)
2. มีต้นไม้ภายใน (อนฺโตรุกฺขตา)
3. เป็นที่ปกปิดด้วยชัฏ (คหนจฺฉนฺนตา)
4. ที่แคบเกินไป (อติสมฺพาธนตา)
5. ที่กว้างเกินไป (อติสาลตา).
จริงอยู่ ที่จงกรมที่มีภูมิภาคแข็งขรุขระ เท้าทั้งสองของผู้จงกรมย่อม
เจ็บ เท้าย่อมบวม จิตย่อมไม่ได้เอกัคคตา กรรมฐานย่อมวิบัติ. แต่ในพื้นที่
อ่อนสม่ำเสมอกัน โยคีอาศัยที่อาศัยอยู่อันผาสุกแล้ว ก็ทำกรรมฐานให้สมบูรณ์
ได้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบที่จงกรม เพราะเป็นภูมิภาคแข็งและขรุขระ
ว่าเป็นโทษที่หนึ่ง. เมื่อต้นไม้มีอยู่ภายในที่จงกรม หรือมีอยู่ในท่ามกลาง หรือ