เมนู

อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์



อธิบายฌานปัญจกนัย



บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มปัญจกนัย (นัยแห่งฌานหมวด 5)
ว่า กตเม ธมฺมา กุสลา (ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน) ดังนี้.
ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงฌานปัญจกนัย
ตอบว่า เพราะแสดงตามอัธยาศัยของบุคคล และเพราะความงามแห่งเทศนา
ได้ยินว่า ในเทวบริษัทที่ประชุมกัน วิตกของเทวดาบางพวกเท่านั้นปรากฏ
เป็นของหยาบ ส่วนวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาจิตปรากฏเป็นของสงบ พระ-
ศาสดาทรงจำแนกชื่อทุติยฌานมีองค์ 4 ซึ่งไม่มีวิตกมีแต่วิจารด้วยสามารถแห่ง
สัปปายะแก่เทวดาเหล่านั้น บางพวกมีวิจารปรากฏโดยเป็นของหยาบ ปีติ สุข
เอกัคคตาจิตปรากฏโดยเป็นของสงบ พระศาสดาก็ทรงจำแนกชื่อตติยฌาน
มีองค์ 3 ด้วยสามารถสัปปายะแก่เทวดาเหล่านั้น บางพวกมีปีติปรากฏโดยเป็น
ของหยาบ สุขเอกัคคตาจิตปรากฏโดยความสงบ พระศาสดาก็ทรงจำแนกชื่อ
จตุตถฌาน มีองค์ 2 ด้วยสามารถสัปปายะแก่เทวดาเหล่านั้น บางพวกมีสุข
ปรากฏโดยเป็นของหยาบ อุเบกขาและเอกัคคตาจิตปรากฏโดยความสงบ
พระศาสดาก็ทรงจำแนกชื่อปัญจมฌานมีองค์ 2 ด้วยสามารถแห่งสัปปายะแก่
เทวดาเหล่านั้น นี้ชื่อว่า อัธยาศัยของบุคคลก่อน.
ส่วนชื่อว่า เทศนาที่ถึงความงามแห่งเทศนา เพราะธรรมธาตุใด
อันเวไนยสัตว์แทงตลอดดีแล้ว ธรรมธาตุนั้น พระตถาคตทรงแทงตลอดมา
ดีแล้ว เพราะฉะนั้น พระศาสดาผู้ทรงบรรลุถึงความงามแห่งเทศนา ผู้ฉลาด
ในวิธีเทศนาเพราะทรงมีพระญาณใหญ่ ทรงกำหนดเทศนาได้ตามพระประสงค์

ด้วยสามารถแห่งองค์นั้น ๆ ในที่นี้ ทรงจำแนกปฐมฌานมีองค์ 5 ทุติยฌาน
มีองค์ 4 คือไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ตติยฌานมีองค์ 3 จตุตถฌานมีองค์ 2
ปัญจมฌานก็มีองค์ 2 นั่นแหละ นี้ชื่อว่า เทศนาวิลาส (ความงามแห่ง
เทศนา).
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมาธิ 3 เหล่าใดในพระ-
สูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิ 3 เหล่านี้ คือ
สวิตักกสวิจารสมาธิ
อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ
อวิตักกอวิจารสมาธิ.
บรรดาสมาธิเหล่านั้น สวิตักกสวิจารสมาธิ และอวิตักกอวิจารสมาธิ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกแสดงไว้ในหนหลังแล้ว. ส่วนอวิตักกวิจารมัตต-
สมาธิยังมิได้ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า เพื่อแสดงอวิตักวิจาร-
มัตตสมาธินั้น จึงทรงเริ่มปัญจกนัยนี้. ในนิทเทสแห่งทุติยฌานในปัญจกนัย
นั้น บรรดาธรรมมีผัสสะเป็นต้น ธรรมมีเพียงวิตกที่ลดลง ส่วนในโกฏฐาสวาร
เนื้อความว่า ฌานมีองค์ 4 มรรคมีองค์ 4 ดังนี้ เท่านั้นที่แปลกกัน คำที่
เหลือทั้งหมดเช่นกับปฐมฌานนั่นแหละ. และฌานที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในจตุกนัย
เป็นฌานที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ในปัญจกนัยนี้ เพื่อแสดงลำดับการบรรลุฌาน
เหล่านั้น พึงทราบนัยดังต่อไปนี้.
ได้ยินว่า บุตรของอำมาตย์คนหนึ่ง มาสู่พระนครจากชนบทเพื่อเข้า
เฝ้าพระราชา เขาเฝ้าพระราชาเพียงวันเดียวเท่านั้น แล้วผลาญทรัพย์ทั้งหมด
ด้วยการดื่มสุรา วันหนึ่ง พวกนักเลงแก้ผ้าเขาซึ่งเมาสุรา แล้วเอาเสื่อลำแพนเก่า

มาปิดไว้ แล้วเอาออกจากโรงสุรา ผู้รู้วิชาดูลักษณะคนหนึ่งเห็นเขานอนหลับ
ที่กองหยากเยื่อ จึงสันนิษฐานว่า บุรุษคนนี้จักเป็นที่พึ่งแก่มหาชนได้ เราควร
ช่วยบุรุษนี้ จึงให้อาบน้ำชำระร่างกาย ให้นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบคู่หนึ่ง แล้วให้
อาบด้วยน้ำหอมอีก แล้วให้นุ่งห่มผ้าทุกูลเนื้อละเอียด ให้ขึ้นสู่ปราสาท ให้
บริโภคโภชนะอย่างดี แล้วมอบคนปรนนิบัติให้ด้วยคำว่า พวกเธอจงบำเรอ
ผู้นี้อย่างนี้ แล้วหลีกไป.
ต่อจากนั้นพวกคนใช้เหล่านั้น ก็ยกเขาให้ขึ้นสู่ที่นอนก็เพื่อป้องกัน
ไม่ให้เขาไปร้านดื่มสุรา คนปรนนิบัติ 4 คน ได้ยืนกดมือและเท้าเขาไว้
คนหนึ่งนวดเท้า คนหนึ่งเอาพัดใบตาลมาพัดโบก คนหนึ่งนั่งดีดพิณขับ
กล่อมอยู่. เขาหายเมื่อยแล้ว เพราะหลับบนที่นอนหน่อยหนึ่งแล้วตื่นขึ้นไม่
สามารถทนการกดมือและเท้าได้ จึงคุกคามด้วยคำว่า ใครมากดเท้ากดมือเรา
ไว้ จงออกไป คนเหล่านั้นก็ออกไปเพียงคำเดียวเท่านั้น เขาก็หลับไปอีก
หน่อยหนึ่งแล้วก็ตื่นขึ้น ทนการนวดเท้าไม่ได้ จึงพูดว่า ใครมานวดเท้าของเรา
จงออกไป แม้คนนวดเท้านั้นก็หลีกไปเพียงคำเดียวนั่นแหละ เขาหลับไปอีก
หน่อยหนึ่งตื่นขึ้นทนลมพัดใบตาลเหมือนลมเจือฝนไม่ได้ จึงพูดว่า นั่นใคร
จงออกไป แม้คนนั้นก็หลีกไปเพียงคำเดียวเท่านั้น เขาหลับไปอีกหน่อยหนึ่ง
ตื่นขึ้นทนเสียงเพลงขับเหมือนหลาวแทงหูไม่ได้ จึงคุกคามคนดีดพิณ แม้คน
ดีดพิณก็ออกไปเพียงคำเดียวเหมือนกัน ที่นั้นเขาละอุปัทวะ (ความรบกวน)
คือความเมื่อยล้า การถูกกด การบีบนวด การถูกลมพัด และเพลงขับประโคม
จึงนอนสบาย ตื่นขึ้นแล้วได้ไปเฝ้าพระราชา แม้พระราชาก็ได้พระราชทาน
ความเป็นใหญ่ให้แก่เขา เขาได้เป็นที่พึ่งแก่มหาชนเกิดขึ้นแล้ว.
ในเรื่องนั้น พึงเห็นกุลบุตรผู้ครองเรือนถึงความเสื่อมโทรม เพราะ
ความพินาศไปแห่งทรัพย์เป็นอเนกนี้ เปรียบเหมือนบุตรแห่งอำมาตย์ผู้ถึงความ
เสื่อมโทรม เพราะพินาศไปด้วยการดื่มน้ำเมานั้น. พระตถาคตเปรียบเหมือน

บุคคลผู้รู้วิชาดูลักษณะ การที่พระตถาคตทรงสันนิษฐานว่า กุลบุตรนี้จักเป็น
ที่พึ่งแก่มหาชนได้ สมควรจะบรรพชา ดังนี้ เปรียบเหมือนบุรุษผู้รู้วิชาดู
ลักษณะ สันนิษฐานว่า บุคคลนี้จักเป็นที่พึ่งแก่มหาชน สมควรจะช่วยเหลือ
ต่อมากุลบุตรได้บรรพชา เปรียบเหมือนบุตรอำมาตย์นั้นได้อาบน้ำทำความ
ชำระร่างกาย ต่อมากุลบุตรนี้ ได้นุ่งห่มผ้าคือศีล 10 เหมือนบุตรอำมาตย์นั้น
นุ่งผ้าเนื้อหยาบ การที่กุลบุตรนี้ได้อาบน้ำหอม คือ ปาฏิโมกขสังวรศีลเป็นต้น
เปรียบเหมือนบุตรของอำมาตย์นั้นได้อาบน้ำหอมอีก. การที่กุลบุตรนี้ได้นุ่งห่ม
ผ้าทุกูลพัสตร์ คือถึงพร้อมด้วยศีลวิสุทธิ์ตามที่กล่าวแล้ว เปรียบเหมือนบุตร
ของอำมาตย์นั้น ได้นุ่งห่มผ้าทุกูลเนื้อละเอียดอีก. การที่กุลบุตรนี้ นุ่งห่มผ้าทุกูล
คือศีลวิสุทธิขึ้นสู่ปราสาท คือสมาธิภาวนา เปรียบเหมือนบุตรของอำมาตย์นั้น
นุ่งห่มผ้าทุกูลเนื้อละเอียดขึ้นสู่ปราสาท.
ต่อจากนั้นกุลบุตรนี้ได้การบริโภคอมตธรรม มีสติและสัมปชัญญะ
เป็นต้นซึ่งมีอุปการะต่อสมาธิ เปรียบเหมือนบุตรของอำมาตย์นั้นบริโภค
อาหารอย่างดี. การที่กุลบุตรนี้ ถูกวิตกและวิจารยกขึ้นสู่อุปจารแห่งฌาน
เปรียบเหมือนบุตรของอำมาตย์นั้นบริโภคอาหารแล้ว ถูกผู้บำเรอทั้งหลายยก
ขึ้นสู่ที่นอน. เนกขัมมวิตกของกุลบุตรนี้ บีบคั้นจิตในอารมณ์เพื่อป้องกัน
มุ่งหน้าต่อกามสัญญา เปรียบเหมือนชาย 4 คน กดเท้ากดมือของบุตรแห่ง
อำมาตย์นั้นไว้ เพื่อมิให้ไปสู่โรงดื่มอีก. วิจารที่เคล้าเคลียจิตในอารมณ์
ของกุลบุตรนี้ เปรียบเหมือนบุรุษบีบนวดเท้าของอำมาตย์นั้น. ปีติอันให้
ซึ่งความเยือกเย็นใจของกุลบุตรนี้ เปรียบเหมือนการให้บุรุษเอาพัด
ใบตาลพัดโบกให้บุตรของอำมาตย์นั้น. โสมนัสอนุเคราะห์จิตของกุลบุตรนี้
เปรียบเหมือนนักดนตรีทำการอนุเคราะห์โสตของบุตรของอำมาตย์นั้น. การที่
กุลบุตรบรรเทาความเมื่อยคือปราศจากนิวรณ์ โดยอาศัยอุปจารฌานเข้าถึง
ปฐมฌานนี้ เปรียบเหมือนบุตรของอำมาตย์นั้น บรรเทาความเมื่อยล้าหน่อยหนึ่ง

ด้วยการเข้าไปสู่ที่นอนแล้วหลับไป. การที่กุลบุตรนี้ออกจากปฐมฌานเห็นโทษ
วิตก เพราะทนวิตกบีบคั้นจิตไม่ได้ จึงละวิตกเข้าฌานที่เป็นอวิตักกวิจาร-
มัตตสมาธิ (ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร) เปรียบเหมือนการที่บุตรของอำมาตย์หลับ
แล้วตื่นขึ้นคุกคามคนผู้กดมือกดเท้า เพราะทนต่อการกดมือกดเท้าไม่ได้ เพราะ
คนเหล่านั้นหลีกไป จึงหลับหน่อยหนึ่ง.
ต่อจากนั้น การที่กุลบุตรนี้ออกจากทุติยฌานเป็นต้นบ่อยๆ เห็นโทษ
วิจารเป็นต้น โดยลำดับ เพราะไม่อาจทนต่อวิจารเป็นต้น ซึ่งมีโทษตามที่
กล่าวแล้ว และเพราะละวิจารเป็นต้นเหล่านั้น จึงเข้าฌานที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
ไม่มีปีติ ละโสมนัสได้แล้ว เปรียบเหมือนบุตรอำมาตย์นั้นนอนหลับแล้วตื่น
ขึ้นบ่อย ๆ คุกคามคนผู้บีบนวดเท้าเป็นต้น โดยลำดับตามที่กล่าวแล้วเพราะ
ไม่อาจทนต่อการบีบนวดเท้าเป็นต้น และเพราะคนนวดเท้าเป็นต้นเหล่านั้นออก
ไปแล้ว จึงเข้าถึงความหลับหน่อยหนึ่งบ่อย ๆ. ก็เมื่อกุลบุตรแม้นี้ออกจาก
ปัญจมฌานเข้าถึงวิปัสสนามรรคบรรลุพระอรหัต เปรียบเหมือนบุตรของอำ-
มาตย์นั้นลุกจากที่นอนไปเฝ้าพระราชา แล้วถึงพร้อมด้วยอิสริยยศ. แม้ความ
ที่กุลบุตรแม้นี้บรรลุพระอรหัตแล้วเป็นที่พึ่งแก่ชนเป็นอันมาก พึงทราบเหมือน
ความที่บุตรของอำมาตย์นั้นได้อิสริยยศแล้วเป็นที่พึ่งแก่ชนเป็นอันมาก ฉะนั้น.
จริงอยู่ ด้วยความเกิดขึ้นแห่งพระอรหัตมีประมาณเท่านี้ กุลบุตรนี้ ก็ชื่อว่า
เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยมฉะนี้แล.
ฌานปัญจกนัยจบ
ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ย่อมเป็นอันประกาศชื่อ สุทธิกนวกะ (ความ
บริสุทธิ์ 9 ) อันต่างโดยฌานจตุกนัย และฌานปัญจกนัย แต่เมื่อว่าโดยอรรถ
สุทธิกนวกะนั้นพึงทราบว่าเป็นฌานปัญจกนัยนั่นเอง เพราะฌานจตุกนัยรวม
เข้าในฌานปัญจกนัยได้.

ปฏิปทา 4



[162] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน ?
โยคาวจรบุคคลเจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภูมิ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์
เป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ฯลฯ อยู่ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อวิกเขปะ
มีในสมัยนั้น ฯลฯ
สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมเป็นกุศล.
[163] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน ?
โยคาวจรบุคคลเจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภูมิ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์
เป็นทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ฯลฯ อยู่ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อวิกเขปะ
มีในสมัยนั้น ฯลฯ
สภาวธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล.
[164] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน ?
โยคาวจรบุคคลเจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภูมิ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์
เป็นสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ฯลฯ อยู่ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อวิกเขปะ
มีในสมัยนั้น ฯลฯ
สภาวธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล.